กรณีด่ากันทางโทรศัพท์ มีความผิด หรือไม่ อย่างไร ?

กรณีด่ากันทางโทรศัพท์ มีความผิด หรือไม่ อย่างไร ?

กรณีด่ากันทางโทรศัพท์ มีความผิด หรือไม่ อย่างไร ?
ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าจะพบเห็นเหตุการณ์ กรณีการด่ากันทางโทรศัพท์บ่อยครั้งมากๆ และเชื่อว่า หลายคนในที่นี้ ได้เคยด่าผู้อื่นทางโทรศัพท์หรือไม่ก็ถูกผู้อื่นด่าทางโทรศัพท์ หากต้องการจะเอาผิดกับบุคคลเหล่านี้ จะต้องดูกฎหมายก่อนว่า สามารถกระทำได้เพียงใด
บทกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีมีดังกล่าวต่อไปนี้คือ
ประมวลกฎหมายอาญา
เรื่องดูหมิ่นซึ่งหน้า
มาตรา ๓๙๓ บัญญัติว่า “ผู้ใดดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
องค์ประกอบของกฎหมาย คือ
๑. ผู้ใด
๒.ดูหมิ่น
๓.ผู้อื่น
๔.ซึ่งหน้า
ข้อความที่สำคัญในทางกฎหมายในข้อนี้ คือคำว่า ” ซึ่งหน้า “โดยหลักกฎหมายหรือเจตนารมณ์ของกฎหมายว่า คำว่า ซึ่งหน้า จะต้องสามารถป้องกันเหตุร้ายที่อาจเข้าถึงตัวกันทันทีที่มีการกล่าว
ดังนั้น การที่ด่ากันทางโทรศัพท์ซึ่งอยู่คนละท้องที่กัน ย่อมไม่อาจป้องกันเหตุร้ายที่อาจเข้าถึงตัวกันทันที จึงไม่เป็นความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้าได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เป็นตัวอย่างให้ศึกษา มีดังต่อไปนี้ คือ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3711/2557
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 ฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายกับจำเลยอยู่ห่างไกลกันคนละอำเภอ แต่องค์ประกอบความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา. มาตรา 393 นั้น ถ้าเป็นการกล่าวด้วยวาจา ผู้กระทำต้องกล่าวซึ่งหน้าผู้เสียหาย เพราะบทบัญญัติมาตรานี้มีเจตนารมณ์ป้องกันเหตุร้ายที่อาจเข้าถึงตัวกันทันทีที่มีการกล่าว ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบจึงยังไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 จำคุก 1 เดือน และปรับ 1,000 บาท โทษจำคุกให้รอไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายและจำเลยทำงานที่สถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 18 (บางวัน พังงา) ผู้เสียหายเป็นลูกจ้างตำแหน่งเจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูล ส่วนจำเลยเป็นเจ้าพนักงานป่าไม้ 5 ทำหน้าที่ผู้ช่วยหัวหน้าสถานี ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยโทรศัพท์ไปหาผู้เสียหายเพื่อทวงถามเอกสารจากผู้เสียหาย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 แต่ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า จำเลยโทรศัพท์ไปหาผู้เสียหาย ด่าว่าและทวงเอกสารจากผู้เสียหาย ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายอยู่ที่สถานีบริการขนส่ง (บขส.) ตำบลท้ายช้าง อำเภอเมืองพังงา จังหวัดพังงา จำเลยอยู่ที่ส่วนบริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนที่ 2 ตำบลกะไหล อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ซึ่งเป็นสถานที่ห่างไกลกันคนละอำเภอ แต่องค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 นั้น ถ้าเป็นการกล่าวด้วยวาจา ผู้กระทำต้องกล่าวซึ่งหน้าผู้เสียหาย เพราะบทบัญญัติมาตรานี้มีเจตนารมณ์ป้องกันเหตุร้ายที่อาจเข้าถึงตัวกันทันทีที่มีการกล่าวดูหมิ่น ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบจึงยังไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

ดังนั้นพอสรุปได้ว่า การที่ด่ากันทางโทรศัพท์ซึ่งอยู่คนละท้องที่กัน ย่อมไม่อาจป้องกันเหตุร้ายที่อาจเข้าถึงตัวกันทันที จึงไม่เป็นความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้าได้