กรณีที่บุคคลที่สามนำข้อความในแชทไปประจาน เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่

  กรณีที่บุคคลที่สามนำข้อความในแชทไปประจาน เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่

 

กรณีที่บุคคลที่สามนำข้อความในแชทไปประจาน เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม

 

ประเด็นดังกล่าวนี้มีบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวโดยตรง คือ

ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา ๓๒๖ ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา ๓๒๙ ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต

(๑) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม

(๒) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่

(๓) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ

(๔) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม

วรรคสอง ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

 

มาตรา ๓๓๐ ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

               แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ ถ้าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน

 

การนำข้อความแชทดังกล่าวไปส่งต่อให้บุคคลที่สามแล้วพาดพิงกันในข้อความแชทระหว่างผู้กระทำความผิดกับบุคคลที่สาม ทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นมีความผิดฐานหมิ่นประมาท ตาม ป.อ. มาตรา 326 เรียกว่าเป็นการ “ด่าให้คนอื่นฟัง” ซึ่งการใส่ความนั้นแม้จะเป็นเรื่องจริงก็ยังคงเป็นความผิดฐานนี้ รวมถึงการนำข้อความแชทที่มีบทสนทนาไปโพสต์ลงในกลุ่มแอปพลิเคชันไลน์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท

 

เมื่อบุคคลที่สามได้นำเรื่องดังกล่าวมาโพสต์ประจานแม้จะเป็นความจริงหรือไม่ก็ตาม และบุคคลทั่วไปเมื่อเข้ามาอ่านและพบเห็นสามารถเข้าใจได้ว่าหมายถึงบุคคลใด แม้ไม่ระบุชื่อบุคคลนั้นก็ตาม ผู้โพสต์มีความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ตาม ป.อ. มาตรา 328 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท

 

 

 

 

จากกรณีตามประเด็นดังกล่าวมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ศึกษาเป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้

 

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๘๒๒/๒๕๑๕

การที่จำเลยแสดงข้อความในจดหมายที่ได้รับจากผู้อื่นให้บุคคลที่สามทราบโดยรู้อยู่ว่าจดหมายนั้นมีข้อความหมิ่นประมาทผู้เสียหาย นับว่าจำเลยได้ใส่ความผู้เสียหาย แล้วไม่ต่างอะไรกับที่จำเลยได้กล่าวด้วยถ้อยคำวาจา และเมื่อบุคคลที่สามเข้าใจข้อความในจดหมายนั้นแล้วการกระทำของจำเลยก็ครบองค์ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 จำเลยจะได้กล่าวยืนยันข้อความนั้นว่าเป็นความจริงหรือไม่ ไม่เป็นข้อสำคัญ

 

          ดังนั้นพอสรุปได้ว่า การที่บุคคลที่สามนำข้อความแชทที่มีข้อความสนทนาไปประจานแม้จะเป็นความจริงหรือไม่ก็ตาม และบุคคลทั่วไปเมื่อเข้ามาอ่านและพบเห็นสามารถเข้าใจได้ว่าหมายถึงบุคคลใด แม้ไม่ระบุชื่อบุคคลนั้นก็ตาม ผู้โพสต์มีความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ตาม ป.อ. มาตรา 328 ถือเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท