การฟ้องเรียกคืนสินสอดตามกฎหมายสามารถทำได้หรือไม่กรณีใดบ้าง
ในการหมั้นหรือการสมรสกันของชายหญิงนั้นกฎหมายไม่ได้บังคับว่าจะต้องมีการให้สินสอดแก่บิดามารดาฝ่ายหญิงทุกกรณี สินสอดจึงไม่ใช่สาระสำคัญของการหมั้นหรือการสมรส ชายหญิงที่ทำการหมั้นหหรือการสมรสกันโดยไม่ต้องมีสินสอดก็ได้ เพียงแต่หากได้มีการตกลงว่าจะให้สินสอดแก่กันแล้ว ฝ่ายชายไม่ยอมให้ ฝ่ายหญิงก็ย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินสอดได้ หรือเมื่อฝ่ายชายได้มีการให้สินสอดแก่ฝ่ายหญิงเพื่อตอบแทนแล้วนั้น หากมีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้นกับหญิงหรือฝ่ายหญิงทำให้ไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงได้แล้วนั้น ฝ่ายชายก็ย่อมมีสิทธิเรียกสินสอดคืนจากฝ่ายหญิงได้ตามกฎหมายดังนี้
1.กรณีที่ไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิง
กรณีที่ไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงทำให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้นได้ คำว่าเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงนั้น หมายถึงเหตุที่จะกระทบกระเทือนถึงการสมรสที่จะมีต่อไประหว่างชายและหญิงคู่หมั้นอันจะก่อความไม่สงบสุขในชีวิตสมรสที่จะมีต่อไปในภายภาคหน้า เช่น หญิงไปร่วมประเวณีกับชายอื่นก็ถือว่าชายคู่หมั้นไม่สมควรจะสมรสกับหญิงนั้นอีก หรือหญิงเป็นโรคติดต่อร้ายแรง หรือหญิงถูกจำคุก ทำให้ชายไม่อาจสมรสกับหญิงนั้นได้ ฝ่ายชายก็ย่อมมีสิทธิเรียกสินสอดคืนโดยการบอกเลิกสัญญาหมั้นได้
2.กรณีที่ไม่มีการสมรสโดยพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ
กรณีที่ไม่มีการสมรสโดยพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบทำให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น คำว่าพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ หมายถึงพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายทำให้การสมรสนั้นไม่อาจมีขึ้น เช่น การที่บิดามารดาของหญิงคู่หมั้นซึ่งเป็นผู้เยาว์ไม่ให้ความยินยอมในการที่หญิงคู่หมั้นจะทำการสมรส หรือหญิงคู่หมั้นทิ้งชายกลับไปอยู่บานแล้วไม่ได้ติดต่อกลับมาเลย เช่นนี้ ถือเป็นพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบทำให้ชายไม่อาจสมรสกับหญิงได้ แต่กรณีนี้จะไม่รวมกรณีที่ชายและหญิงละเลยไม่นำพาต่อการจดทะเบียนสมรสฝ่ายชายจะเรียกสินสอดคืนไม่ได้
ส่วนในกรณีที่ไม่มีการสมรสอันเนื่องมาจากการที่ชายหรือหญิงคู่หมั้นถึงแก่ความตายก่อนจดทะเบียนสมรสกันจะมีกฎหมายที่บัญญัติอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1441 ไว้ชัดเจนว่ากรณีนี้ฝ่ายชายจะไม่มีสิทธิเรียกสินสอดคืนได้ เพราะไม่ถือว่าเป็นพฤติการณ์ที่หญิงต้องรับผิดชอบทำให้ชายไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น โดยอายุความในการฟ้องร้องเรียกคืนสินสอดนั้น ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ กรณีจึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายความแสงวรรณ
ทนายความแสงวรรณ เรือนเครือ
72/122 ม.7 ซ.8 ต.วัดไทร อ.เมือง จ.นครสวรรค์ 60000
โทร 084-5795609