ก่อสร้างผิดแบบ มีโทษทางอาญาและต้องรื้อถอน ?

ก่อสร้างผิดแบบ มีโทษทางอาญาและต้องรื้อถอน ?

 

ก่อสร้างผิดแบบ มีโทษทางอาญาและต้องรื้อถอน ?

 

ประเด็นดังกล่าวนี้มีบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวโดยตรง คือ

 

พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒

 

มาตรา ๓๑  ห้ามมิให้ผู้ใดจัดให้มีหรือดำเนินการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารให้ผิดไปจากแบบแปลนและรายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตตลอดจนวิธีการหรือเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดไว้ในใบอนุญาต หรือให้ผิดไปจากที่ได้แจ้งไว้ตามมาตรา 39 ทวิ เว้นแต่

 

 

(1) เจ้าของอาคารนั้นได้ยื่นคำขออนุญาตและได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ให้ทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้

 

 

(2) เจ้าของอาคารนั้น ได้แจ้งการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบแล้วหรือ

 

(3) การดำเนินการดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎกระทรวงหรือข้อบัญญัติท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง หรือเป็นกรณีตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

ให้นำมาตรา 25 หรือมาตรา 39 ทวิ มาใช้บังคับแก่การดำเนินการตาม (1)

 

หรือ (2) แล้วแต่กรณี โดยอนุโลม

 

มาตรา ๒๑ ผู้ใดจะก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคาร ต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น หรือแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น และดำเนินการตามมาตรา 39 ทวิ”

 

มาตรา ๔๒ ถ้าการกระทำตามมาตรา 40 เป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ หรือเจ้าของอาคารมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 41 ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร ผู้ควบคุมงาน หรือผู้ดำเนินการรื้อถอนอาคารนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดแต่ต้องไม่น้อยกว่าสามสิบวัน โดยให้ดำเนินการรื้อถอนตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 8 (11) หรือข้อบัญญัติท้องถิ่นที่ออกตามมาตรา 9 หรือมาตรา 10”

มาตรา ๖๕  ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 21 มาตรา 22 มาตรา 31 มาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 52 วรรคหก มาตรา 57 หรือมาตรา 60 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

นอกจากต้องระวางโทษตามวรรคหนึ่งแล้ว ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 21 มาตรา 31 มาตรา 32 มาตรา 34 หรือมาตรา 57 ยังต้องระวางโทษปรับอีกวันละไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง”

 

คนที่เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินหรืออาคารที่อยู่ใกล้เคียงถือเป็นผู้เสียหาย นอกเหนือจากพนักงานท้องถิ่น ดังนั้น หากก่อสร้างบ้านผิดแผนผังหรือแบบแปลน พนักงานท้องถิ่นเป็นผู้มีหน้าที่แจ้งความดำเนินคดี และหากกระทบกระเทือนต่อความเป็นอยู่และการใช้สอยที่ดิน  ผู้ที่ได้รับผลกระทบย่อมเป็นผู้เสียหาย สามารถร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจ

 

จากกรณีตามประเด็นดังกล่าวมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ศึกษาเป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๖๙๘/๒๕๓๖

 

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองไม่ติดตั้งป้ายแสดง รายการในที่ดินที่ทำการปลูกสร้าง มิได้ฟ้องว่าติดตั้งป้ายไม่ถูกต้อง จึงไม่มีเหตุและความจำเป็นที่จะต้องบรรยายขนาดความกว้างยาวของป้ายและรายการตามที่กำหนดไว้ใน ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคารพ.ศ. 2522 ข้อ 100 ฟ้องโจทก์เพียงบรรยายว่าจำเลยทั้งสองไม่ติดตั้งป้ายในที่ดินที่ทำการปลูกสร้างก็ครบองค์ประกอบแห่งความผิดและทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม อาคารที่จำเลยทั้งสองก่อสร้างติดกับซอยซึ่งเป็นทางสาธารณะมีผิวจราจรกว้าง 7 เมตร ต่อจากผิวจราจรเป็นทางเท้าด้านหน้าอาคารกว้าง 2 เมตร รวมเป็น 9 เมตรเสาอาคารที่ก่อสร้างด้านหน้าอยู่ห่างจากขอบถนนเพียง 2 เมตรเมื่อตามแบบแปลนแผนผังบริเวณที่ได้รับอนุญาตกำหนดระยะที่ตั้งของอาคารห่างจากขอบถนน 3.15 เมตร อาคารที่ก่อสร้างจึงมีระยะที่ตั้งถึงขอบเขตที่สาธารณะผิดไปจากแผนผังบริเวณที่ได้รับอนุญาตถึงร้อยละ 36.50 เกินกว่าข้อยกเว้นที่กำหนดในกฎกระทรวงฉบับที่ 12(พ.ศ. 2528) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ 1 จึงเป็นการก่อสร้างอาคารผิดแบบแปลนแผนผังบริเวณที่ได้รับอนุญาต กฎกระทรวงฉบับที่ 11(พ.ศ. 2528) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ 1(3) เป็น เรื่องการดัดแปลงอาคารซึ่งได้ก่อสร้างไว้แล้วให้ผิดไปจากเดิมจะนำมาใช้กับการก่อสร้างอาคารขึ้นใหม่ไม่ได้ ตามแบบแปลนแผนผังบริเวณอาคารตึกแถวแต่ละห้องที่ได้รับอนุญาตให้ทำการก่อสร้างมีความกว้างห้องละ 4.50 เมตรเมื่อจำเลยทั้งสองก่อสร้างทางด้านหลังห้องหนึ่ง ๆ ยื่นออกไปอีก 0.90 เมตร ทำให้ห้องมีความกว้างเป็น 5.40 เมตรความกว้างของแต่ละห้องที่เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละยี่สิบเป็นการเปลี่ยนแปลงไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตเกินร้อยละห้า จำเลยจึงไม่ได้รับยกเว้นให้ทำได้ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 12(พ.ศ. 2528) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ 2 จำเลยได้รับอนุญาตก่อสร้างอาคารซึ่งจะต้องเว้นที่ว่างด้านหลังอาคารโดยปราศจากสิ่งปกคลุม .05 ถึง 2.85 เมตรจำเลยก็ต้องปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ แต่จำเลยทำการก่อสร้างอาคารโดยเว้นที่ว่างหลังอาคารเพียง 1.50 ถึง 2 เมตรและก่อสร้างด้านหลังอาคารออกไปปกคลุมตั้งแต่ชั้นสองขึ้นไปตลอดแนวอาคาร จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานก่อสร้างอาคารผิดแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต จะนำข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ 75 วรรคหนึ่งมาใช้บังคับไม่ได้เพราะข้อบัญญัติดังกล่าวใช้ในกรณีที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกสร้างชิดเขตที่ดินต่างผู้ครอบครอง

 

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๐๑๕/๒๕๓๙

จำเลยกระทำการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522ที่แก้ไขแล้ว  มาตรา  31 นอกจากจะต้องลงโทษตามมาตรา  65  วรรคหนึ่ง  จำคุกหรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับแล้ว     ยังต้องปรับรายวันตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนตาม มาตรา 65 วรรคสองอีกด้วย

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๓๖๖/๒๕๔๑

พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มีทั้งบทบัญญัติที่เป็นส่วนแพ่งและส่วนอาญา การกระทำความผิดของจำเลยแยกได้เป็นสองส่วน คือ ความรับผิดในทางแพ่ง คือ การรื้อถอน อาคารพิพาทซึ่งก่อสร้างฝ่าฝืนมาตรา 21 ซึ่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้รื้อถอนหรือร้องขอต่อศาลให้บังคับให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารรื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างโดยฝ่าฝืนต่อ พระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯมาตรา 42 แต่การที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในทางอาญา โดยไม่ได้ขอให้จำเลยรื้อถอนอาคารพิพาทซึ่งเป็นความรับผิดในทางแพ่ง เมื่อจำเลยก่อสร้างอาคารพิพาทโดยผิดกฎหมายและเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งเป็นหนังสือให้จำเลยรื้อถอนอาคารพิพาท จำเลยได้ทราบคำสั่งแล้วไม่ปฏิบัติตาม จำเลยจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯ มาตรา 21,65 และมาตรา 42,66 ทวิ แม้จำเลยจะได้โอนกรรมสิทธิ์อาคารพิพาทไปให้บุคคลภายนอกก็ตาม ก็ไม่ทำให้ความรับผิดในทางอาญาของจำเลยเปลี่ยนแปลงไป จำเลยยังคงต้องผูกพันตามคำพิพากษาชำระค่าปรับเป็นรายวันไปจนกว่าอาคารพิพาทจะได้มีการรื้อถอนเพราะหากยอมให้จำเลยไม่ต้องรับผิดเมื่อโอนอาคารพิพาทให้แก่บุคคลภายนอกคำพิพากษาก็จะไร้ผลบังคับ

 

            ดังนั้นพอสรุปได้ว่า ก่อสร้างผิดแบบ มีทั้งมีทั้งบทบัญญัติที่เป็นส่วนแพ่งและส่วนอาญา การกระทำความผิดของจำเลยแยกได้เป็นสองส่วน คือ ความรับผิดในทางแพ่ง คือ การรื้อถอน อาคารพิพาทซึ่งก่อสร้างฝ่าฝืนมาตรา 21 ซึ่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้รื้อถอนหรือร้องขอต่อศาลให้บังคับให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารรื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างโดยฝ่าฝืนต่อ พระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯมาตรา 42