ข้อความที่ใส่ความผิดหมิ่นประมาทหรือไม่ ศาลฎีกาใช้หลักใดในการพิจารณา

ข้อความที่ใส่ความผิดหมิ่นประมาทหรือไม่ ศาลฎีกาใช้หลักใดในการพิจารณา

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 332 (2) ให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในหนังสือพิมพ์ส่วนท้องถิ่นในจังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต รวมทั้งส่วนกลางของกรุงเทพมหานคร รวมไม่น้อยกว่า 5 ฉบับ เป็นเวลา 7 วัน โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้องพอมีมูลว่า นางสาวตรีเนตร เป็นโจทก์ที่ 3 ฟ้องนายวิรัตน์ ที่ 1 กับพวกเป็นจำเลยตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 163/2558 ของศาลชั้นต้น คดีดังกล่าวนางสาวตรีเนตรแต่งตั้งโจทก์เป็นทนายความ ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยพูดกับนางสาวตรีเนตรว่า “เอาทนายเฮงซวยที่ไหนมา สถุล” เนื่องจากไม่พอใจในการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ในฐานะทนายความที่ชี้หน้านายวิรัตน์ สามีของจำเลยในขณะซักถามพยานคดีดังกล่าว

คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวว่า “เอาทนายเฮงซวยที่ไหนมา สถุล” อาจเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ข้อความที่จำเลยกล่าวจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ ต้องพิจารณาถึงความรู้สึกของวิญญูชนทั่ว ๆ ไป เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาว่าข้อความที่กล่าวนั้นถึงขั้นที่ทำให้ผู้ถูกหมิ่นประมาทซึ่งเป็นทนายความน่าจะเสียชื่อเสียง บุคคลอื่นดูหมิ่น เกลียดชังหรือไม่ มิใช่พิจารณาตามความรู้สึกของผู้ถูกหมิ่นประมาทแต่ฝ่ายเดียว ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวว่า “เอาทนายเฮงซวยที่ไหนมา สถุล” นั้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ให้ความหมายของคำว่า “เฮงซวย” ว่า เอาแน่นอนอะไรไม่ได้ คุณภาพต่ำ ไม่ดี เช่น คนเฮงซวย ของเฮงซวย เรื่องเฮงซวย ส่วนคำว่า “สถุล” ให้หมายความว่า หยาบ ต่ำช้า เลวทราม (ใช้เป็นคำด่า) เช่น เลวสถุล เช่นนี้ แม้ถ้อยคำที่จำเลยด่าโดยการกล่าวว่าทนายเฮงซวย เป็นเพียงการดูถูกเหยียดหยามและสบประมาทโจทก์ อันเป็นการพูดดูหมิ่นเหยียดหยามให้อับอายเจ็บใจ แต่ยังไม่เป็นการใส่ความให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังก็ตาม แต่เมื่อฟังประกอบกับถ้อยคำตอนท้ายว่า ” สถุล ” แล้ว วิญญูชนทั่วไปจึงอาจเข้าใจว่า โจทก์ซึ่งเป็นทนายความเอาแน่นอนอะไรไม่ได้ คุณภาพต่ำ ไม่ดี และเป็นไปในทางหยาบ ต่ำช้า เลวทราม ถ้อยคำดังกล่าวจึงอาจทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง อันอาจเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทได้ คดีโจทก์จึงมีมูล ให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

พิพากษากลับ ให้ประทับฟ้องไว้พิจารณาต่อไป

สรุป

ข้อความที่จำเลยกล่าวจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ ต้องพิจารณาถึงความรู้สึกของวิญญูชนทั่วๆไป เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาว่าข้อความที่กล่าวถึงนั้นถึงขั้นที่ทำให้ผู้ถูกหมิ่นประมาทซึ่งเป็นทนายความน่าจะเสียชื่อเสียง บุคคลอื่นดูหมิ่น เกลียดชังหรือไม่ มิใช่พิจารณาตามความรู้สึกของผู้ถูกหมิ่นประมาทแต่ฝ่ายเดียว ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวว่า “เอาทนายเฮงซวยที่ไหนมา สถุล” นั้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ให้ความหมายของคำว่า “เฮงซวย” ว่า เอาแน่นอนอะไรไม่ได้ คุณภาพต่ำ ไม่ดี เช่น คนเฮงซวย ของเฮงซวย เรื่องเฮงซวย ส่วนคำว่า “สถุล” ให้ความหมายว่า หยาบ ต่ำช้า เลวทราม (ใช้เป็นคำด่า) เช่น เลวสถุล เช่นนี้ แม้ถ้อยคำที่จำเลยด่าโดยการกล่าวว่าทนายเฮงซวย เป็นเพียงการดูถูกเหยียดหยามและสบประมาทโจทก์ อันเป็นการพูดดูหมิ่นเหยียดหยามให้อับอายเจ็บใจ แต่ยังไม่เป็นการใส่ความให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังก็ตาม แต่เมื่อฟังประกอบกับถ้อยคำตอนท้ายว่า “สถุล” แล้ว วิญญูชนทั่วไปจึงอาจเข้าใจว่า โจทก์ซึ่งเป็นทนายความเอาแน่นอนอะไรไม่ได้ คุณภาพต่ำ ไม่ดีและเป็นไปในทางหยาบ ต่ำช้า เลวทราม ถ้อยคำดังกล่าวจึงอาจทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง อันอาจเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทได้

จุดที่ศาลใช้พิจารณา

1.เข้าองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายหรือไม่

2.ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวว่า อาจเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์หรือไม่

3.พิจารณาถึงความรู้สึกของวิญญูชนทั่ว ๆ ไป เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาว่าข้อความที่กล่าวนั้นถึงขั้นที่ทำให้ผู้ถูกหมิ่นประมาทซึ่งเป็นทนายความน่าจะเสียชื่อเสียง บุคคลอื่นดูหมิ่น เกลียดชังหรือไม่