คู่สมรสทำสัญญาค้ำประกัน คู่สมรสอีกฝ่ายต้องร่วมรับผิดหรือไม่?

คู่สมรสทำสัญญาค้ำประกัน คู่สมรสอีกฝ่ายต้องร่วมรับผิดหรือไม่?

คู่สมรสทำสัญญาค้ำประกัน คู่สมรสอีกฝ่ายต้องร่วมรับผิดหรือไม่?

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่านทุกท่าน วันนี้ทีมงานทนายแสงวรรณ จะมาแนะนำในหัวข้อที่ว่า คู่สมรสทำสัญญาค้ำประกัน คู่สมรสอีกฝ่ายต้องร่วมรับผิดหรือไม่ ทางทีมงานทนายแสงวรรณแนะนำว่า  สิ่งหนึ่งที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีในการจดทะเบียนสมรสคือ เจตนาของคู่สมรสที่ต้องการใช้ชีวิตร่วมทุกข์ร่วมสุขกันระหว่างคู่สมรสทั้งสองฝ่าย ซึ่งการใช้ชีวิตร่วมกันย่อมมีเรื่องของการจัดการทรัพย์สินที่เป็นทั้งสินสมรสและหนี้สินของสามีภริยาด้วย

หนี้สินของสามีภริยานั้น สามารถแบ่งได้เป็น 2 กรณี คือ

1. หนี้ที่มีมาก่อนสมรส ซึ่งก็คงเป็นหน้าที่ของผู้ก่อหนี้ที่จะต้องชำระหนี้นั้นเองเป็นการส่วนตัว และ

2. หนี้ที่ก่อขึ้นในระหว่างสมรส

หนี้ที่ก่อขึ้นในระหว่างสมรส โดยหลักแล้วคู่สมรสฝ่ายใดเป็นผู้ก่อให้เกิดหนี้ขึ้น หนี้ที่เกิดขึ้นเป็นหนี้ส่วนตัวของฝ่ายนั้น เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นว่าเป็นหนี้ร่วม กล่าวคือ

  1. หนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดู ตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ
  2. หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส
  3. หนี้ที่เกิดขึ้นจากการงานซึ่งสามีภริยาทำด้วยกัน
  4. หนี้ที่สามีหรือภริยาก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว แต่อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบัน

ดังนี้ หากสามีไปทำสัญญาค้ำประกันให้กับบุคคลอื่น เช่น สามี (กรรมการผู้จัดการบริษัท ด.) ได้ทำสัญญาค้ำประกันการเช่าซื้อเครื่องจักรของบริษัท ด. มอบไว้แก่ธนาคาร ก. เจ้าหนี้ โดยมีภริยาลงลายมือชื่อของตนในสัญญาค้ำประกันนั้นด้วย เช่นนี้ หากบริษัท ด. ผิดสัญญาเช่าซื้อ สามีผู้ค้ำประกันย่อมต้องรับผิดต่อธนาคาร ก. เจ้าหนี้ด้วย แต่ปัญหาคือในส่วนของภริยานั้นจะต้องร่วมรับผิดด้วยหรือไม่

กรณีนี้ต้องพิจารณาก่อนว่าหนี้ตามสัญญาค้ำประกันนั้นเป็นหนี้ประเภทใดระหว่างหนี้ส่วนตัวของสามีเองหรือเป็นหนี้ร่วมกันของสามีและภริยา ตามตัวอย่างข้างต้น จะเห็นว่าหนี้ที่เกิดจากการค้ำประกันนั้น สามีก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างสมรสโดยเป็นหนี้ที่ก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ของตนเองฝ่ายเดียว ไม่เป็นหนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดู ตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและการศึกษาของบุตร หรือเป็นหนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส และยังไม่ใช่หนี้ที่เกิดขึ้นจากการงานซึ่งสามีภริยาทำด้วยกันอีกด้วย

ส่วนการที่ภริยาลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันนั้น ไม่ถือว่าเป็นการให้สัตยาบัน แต่เป็นการให้ความยินยอมทั่วไป เนื่องจากการให้สัตยาบันนั้นจะมีขึ้นได้ก็ต่อเมื่อได้เกิดมีหนี้ตามสัญญาค้ำประกันที่สามีจะต้องรับผิดขึ้นมาก่อนแล้วภริยาจึงจะสามารถให้สัตยาบันต่อหนี้นั้นได้ ดังนี้ ภริยาจะให้สัตยาบันก่อนที่สามีจะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันนั้นไม่ได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8820/2561 , 7568/2562)

สรุป หนี้ที่เกิดจากการค้ำประกันของคู่สมรส ที่ทำขึ้นในระหว่างสมรส หากเป็นหนี้ที่ไม่เข้าข้อยกเว้น คู่สมรสอีกฝ่ายไม่จำต้องร่วมรับผิด

 

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายความแสงวรรณ

ทนายความแสงวรรณ เรือนเครือ

72/122 ม.7 ซ.8 ต.วัดไทร อ.เมือง จ.นครสวรรค์ 60000

โทร 084-5795609