ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 บัญญัติว่า “สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดังต่อไปนี้…(2) ในคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้องหรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย….” และตาม ป.อ. มาตรา 333 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติอยู่ในหมวดความผิดฐานหมิ่นประมาทว่า “ความผิดในหมวดนี้เป็นความผิดอันยอมความได้…” ดังนั้น ความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326 ซึ่งบัญญัติอยู่ในหมวดความผิดฐานหมิ่นประมาท ที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ จึงเป็นความผิดต่อส่วนตัวซึ่งยอมความกันได้ เมื่อปรากฏว่า ข้อเท็จจริงตามบันทึกการไกล่เกลี่ยยอมความ ข้อ 1 กำหนดว่า โจทก์ต้องการให้จำเลยถอนค้ำประกัน 1,500,000 บาท โดยให้เปลี่ยนบุคคลอื่นค้ำประกันแทนภายในเดือนเมษายน 2560 และข้อ 4 กำหนดว่า หากจำเลยไม่หาคนเปลี่ยนค้ำประกันได้ภายในเดือนเมษายน 2560 โจทก์จะนำคดีหมิ่นประมาทนี้มาดำเนินคดีกับจำเลยภายในอายุความ แสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่ได้มีเจตนาจะสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในทันที แต่กลับมีเงื่อนไขกำหนดให้จำเลยเปลี่ยนตัวผู้ค้ำประกันเงินกู้จากโจทก์เป็นบุคคลอื่นเป็นผู้ค้ำประกันแทนให้แล้วเสร็จโดยมีกำหนดเวลาให้จำเลยดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเดือนเมษายน 2560 หากจำเลยไม่ดำเนินการโจทก์จะดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทแก่จำเลยภายในอายุความ เมื่อปรากฎว่าจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้จำเลยยังมิได้เปลี่ยนตัวผู้ค้ำประกันเงินกู้จากโจทก์เป็น ร. หรือบุคคลอื่นแทนโจทก์ การที่จำเลยดำเนินการขออนุมัติเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในตัวผู้ค้ำประกันเงินกู้ของจำเลยต่อธนาคาร ก. จากโจทก์เป็น ร. ก็เป็นขั้นตอนส่วนหนึ่งที่จำเลยมีหน้าที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามบันทึกการไกล่เกลี่ยยอมความ แต่เมื่อจำเลยยังไม่ได้ดำเนินการเปลี่ยนตัวผู้ค้ำประกันเงินกู้เป็นบุคคลอื่นแทนโจทก์เช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงกันไว้ในระหว่างโจทก์ดังกล่าว กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความตามกฎหมาย อันจะทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นอันระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)