บริษัทประกันภัยมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายแทนผู้เอาประกันภัยได้หรือไม่
บทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้โดยตรง คือ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๘๘๐ ถ้าความวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้นเพราะการกระทำของบุคคลภายนอกไซร้ ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจำนวนเพียงใด ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกเพียงนั้น ถ้าผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแต่เพียงบางส่วนไซร้ ท่านห้ามมิให้ผู้รับประกันภัยนั้นใช้สิทธิของตนให้เสื่อมเสียสิทธิของผู้เอาประกันภัย หรือผู้รับประโยชน์ ในการที่เขาจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากบุคคลภายนอกเพื่อเศษแห่งจำนวนวินาศนั้น
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๘๐ ได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่า บริษัทประกันภัยมีสิทธิฟ้องร้องค่าเสียหายแทนผู้เอาประกันภัยได้
ข้อกฎหมายที่ว่า ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและผู้รับผลประโยชน์ เป็นตามหลักการสำคัญพื้นฐานของสัญญาประกันภัย ซึ่งมีด้วยกัน ๖ หลัก ซึ่งมีหลักการหนึ่งที่เรากำลังจะพูดถึง คือ หลักการรับช่วงสิทธิ ซึ่งหมายถึง การที่ผู้รับประกันภัย เข้าไปใช้สิทธิทั้งปวงของผู้เอาประกันภัย หรือของผู้รับผลประโยชน์ เท่ากับจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ผู้รับประกันภัยได้จ่ายไปด้วยอำนาจตามกฎหมาย
ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้อง กับหลักการว่าด้วยการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความเป็นจริง และเพื่อให้บุคคลภายนอกซึ่งเป็นบุคคลเป็นผู้ก่อวินาศภัย นั้น ต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่ตนได้ก่อให้เกิดขึ้น อีกทั้งผู้เอาประกันจะเรียกร้องค่าเสียหายจำนวนเดียวกันนี้ ทั้งจากผู้ก่อวินาศภัยและผู้รับประกันภัยไม่ได้ และไม่มีกรณีใดที่ผู้รับที่ผู้รับประกันภัยจะรับช่วงสิทธิไปเกินกว่าจำนวนเงินที่ตนจ่ายไปเช่นกัน
การประกันภัยที่ใช้หลักการรับช่วงสิทธิ ได้ มีด้วยกัน ๓ ประการ คือ
๑.เป็นวินาศภัย
๒.อันเกิดการกระทำของบุคลภายนอก
๓.ผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทน ตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง
ส่วนวัตถุประสงค์ของการรับช่วงสิทธิ์ เพื่อป้องกันการแสวงหากำไรของผู้เอาประกันภัย ซึ่งอาจรับผลประโยชน์ทั้งสองทาง คือ จากผู้ที่รับประกันภัยและจากผู้ก่อความเสียหาย และเพื่อให้บุคคลผู้ก่อความเสียหายรับผิดชอบต่อความเสียหายที่ได้ก่อนั้น
อย่างไรก็ดีหลักของการรับช่วงสิทธิ์นั้น มิได้หมายความว่าบริษัทประกันภัยจะได้สิทธิ์นี้เสมอไป แท้จริงแล้วก็มีข้อยกเว้นอยู่เหมือนกัน ในกรณีที่มีการยอมความกัน หรือบุคคลภายนอกที่ก่อให้เกิดความเสียหายได้หลุดพ้นจากความรับผิดต่อผู้เอาประกันไปแล้ว ผู้รับประกันก็ไม่อาจรับช่วงสิทธิ์ได้ เช่น ต่างตนต่างประมาทและทำรายงานบันทึกประจำวันต่างคนต่างซ่อม เป็นการสละสิทธิ์เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนที่พึงมีต่อกัน จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ มูลละเมิดจึงต้องระงับไป (ป.พ.พ. มาตรา 850-852)
ที่สำคัญการยินยอมนี้สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องรับความยินยอมจากบริษัทประกันภัย และบริษัทประกันภัยไม่สามารถใช้หลักการรับช่วงสิทธิฟ้องร้องค่าเสียหายกับคู่กรณีได้ (ฎ. 4045/2548)
กรณีดังกล่าวนี้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่เป็นตัวอย่างให้ศึกษาดังต่อไปนี้ คือ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๐๔๕/๒๕๔๘
จำเลยขับรถจักรยานยนต์เฉี่ยวชนรถยนต์กระบะของ ส. ที่เอาประกันภัยไว้กับโจทก์ เป็นเหตุให้รถทั้งสองคันได้รับความเสียหาย ซึ่งตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี นอกจากพนักงานสอบสวนจะทำบันทึกแจ้งข้อหาจำเลยเป็นคดีอาญาและเปรียบเทียบปรับอันทำให้คดีอาญาเป็นอันเลิกกันแล้ว พนักงานสอบสวนยังทำบันทึกเกี่ยวกับค่าเสียหายมีข้อความว่า คู่กรณีสมัครใจตกลงกันโดยทั้งสองฝ่ายไม่ติดใจเรียกค่าเสียหาย ตกลงกันเป็นที่พอใจแล้วจึงให้ ส. และจำเลยลงชื่อไว้เป็นหลักฐาน ดังนี้แสดงว่า ส. และจำเลยตกลงกันว่าไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายต่อกัน เป็นการระงับข้อพิพาทให้เสร็จไปโดยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันด้วยการที่ต่างฝ่ายต่างซ่อมรถที่เสียหายเอง ข้อตกลงเช่นนี้มีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 ทำให้ ส. ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถของ ส. จะรับช่วงสิทธิของ ส. ได้เพียงเท่าที่ ส. ผู้เอาประกันภัยมีอยู่เท่านั้น แม้ ส. จะทำบันทึกตกลงกับจำเลยโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ก็ตาม แต่ ส. เป็นผู้ได้รับความเสียหายกรณีละเมิดถูกรถยนต์จำเลยเฉี่ยวชน ย่อมมีสิทธิที่จะทำข้อตกลงระงับข้อพิพาทที่มีอยู่กับจำเลยด้วยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายต่อกัน อันเป็นการสละสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ เมื่อ ส. ผู้เอาประกันภัยไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย ดังนี้ โจทก์ผู้รับประกันภัยย่อมไม่อาจรับช่วงสิทธิของ ส. ที่จะมาเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้ การที่โจทก์ผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ ส. ผู้เอาประกันภัยไปเป็นการปฏิบัติไปตามข้อสัญญาในกรมธรรม์ที่โจทก์ทำไว้กับ ส. เท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๗๘/๒๕๔๔
จำเลยทำสัญญาบริการรักษาความปลอดภัยกับบริษัท อ. โดยยินยอมชำระค่าเสียหายให้แก่บริษัท อ. ในกรณีที่ทรัพย์สินสูญหายเนื่องจากการโจรกรรม ดังนั้น เมื่อทรัพย์สินของบริษัท อ. สูญหายไปเนื่องจากการโจรกรรม จำเลยจึงต้องรับผิดต่อบริษัท อ. ตามสัญญา เมื่อทรัพย์สินที่สูญหายเป็นทรัพย์สินที่บริษัท อ. ได้เอาประกันภัยไว้กับโจทก์ และโจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัท อ. ไปแล้ว จึงเข้ารับช่วงสิทธิของบริษัท อ. เรียกร้องเอาจากจำเลยตามสัญญาบริการรักษาความปลอดภัยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880
ดังนั้นพอสรุปได้ว่าบริษัทประกันภัยมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายแทนผู้เอาประกันภัยได้