ศาลฎีกา วินิจฉัยหลักการของการฉ้อโกงประชาชนไว้อย่างไร

ศาลฎีกา วินิจฉัยหลักการของการฉ้อโกงประชาชนไว้อย่างไร

ศาลฎีกา วินิจฉัยหลักการของการฉ้อโกงประชาชนไว้อย่างไร

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 เป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 2 ที่ 3เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 5 และที่ 6 เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 4 โจทก์มีสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ตามเช็คจากจำเลยที่ 4ซึ่งจำเลยที่ 4 ไม่มีเงินพอชำระ ในระหว่างที่โจทก์กำลังดำเนินคดีทั้งในทางแพ่งและทางอาญาต่อจำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 จำเลยทั้งหกได้ร่วมกันกระทำผิดกฎหมาย โดยจำเลยทั้งหกหลอกลวงโจทก์และประชาชนที่เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 4ประมาณ 30 คน ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งว่า ให้โจทก์และเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 4 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความมอบเช็ค ที่โจทก์และเจ้าหนี้อื่นเป็นผู้ทรงให้แก่จำเลยที่ 1 และให้ระงับการฟ้องร้องจำเลยที่ 4 ทั้งทางแพ่งและทางอาญาจำเลยทั้งหกจะจัดการโอนกิจการและทรัพย์สินของจำเลยที่ 4 ไปเป็นของบริษัทน้ำตาลระยอง จำกัด ส่วนสิทธิเรียกร้องของโจทก์และเจ้าหนี้อื่นที่มีต่อจำเลยที่ 4จำเลยทั้งหกจะโอนหุ้นของบริษัทน้ำตาลระยอง จำกัด ให้เท่ากับจำนวนหนี้แต่ความจริงจำเลยทั้งหกได้ร่วมกันโอนกิจการและทรัพย์สินของจำเลยที่ 4ทั้งหมดไปเป็นของจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยดังกล่าวทำให้โจทก์และเจ้าหนี้อื่นเสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341,343, 350 และ 83

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว สั่งว่าคดีมีมูลตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341, 350 ส่วนข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343ไม่มีมูล

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วว่า จำเลยที่ 1และที่ 4 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 5 ที่ 6 เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 4จำเลยที่ 4 เป็นลูกหนี้โจทก์และผู้อื่นหลายราย จำเลยที่ 1 เข้าจัดการเรื่องหนี้สินของจำเลยที่ 4 เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2519 โจทก์และเจ้าหนี้อื่นของจำเลยที่ 4ประมาณ 30 ราย พร้อมด้วยฝ่ายจำเลยไปประชุมกัน ทุกฝ่ายตกลงกันว่าจำเลยที่ 1จะจัดการตั้งบริษัทขึ้นใหม่ แล้วโอนกิจการและทรัพย์สินของจำเลยที่ 4 ไปเป็นของบริษัทใหม่โดยให้เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 4 ทุกคนได้เข้าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทใหม่ตามจำนวนที่เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 4 ต่อมาได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2519 โจทก์มอบเช็คที่จำเลยที่ 4 เป็นลูกหนี้รวม 14 ฉบับให้จำเลยที่ 1 แต่ในที่สุดโจทก์และเจ้าหนี้อื่นไม่ได้เข้าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทใหม่ ทั้งจำเลยที่ 4โอนที่ดินและทรัพย์สินทั้งหมดใช้หนี้จำนองแก่จำเลยที่ 1 ในราคา15,300,000 บาท ต่ำกว่าราคาที่แท้จริงประมาณ 45,000,000 บาท ทำให้โจทก์และเจ้าหนี้อื่นหมดหนทางจะได้รับชำระหนี้แล้ววินิจฉัยว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 เป็นเรื่องฉ้อโกงด้วย การแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน คำว่า “ประชาชน” มิได้มีคำจำกัดความไว้ในประมวลกฎหมายอาญาตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง “บรรดาพลเมือง” และคำว่าบรรดาพลเมืองมีความหมายถึง “ชาวเมืองทั้งหลาย” คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งหกหลอกลวงโจทก์และประชาชนที่เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 4 ประมาณ30 คน จึงเป็นการหลอกลวงเฉพาะบุคคลที่เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 4 ซึ่งมีจำนวนมากเท่านั้น มิใช่เป็นการหลอกลวงประชาชนโดยทั่วไป ฟ้องโจทก์ไม่มีมูลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343

พิพากษายืน

สรุป

ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343เป็นเรื่องฉ้อโกงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน คำว่า’ประชาชน’ มิได้มีคำจำกัดความไว้ในประมวลกฎหมายอาญา แต่ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานหมายถึง ‘บรรดาพลเมือง’ และคำว่า ‘พลเมือง’ มีความหมายถึง ‘ชาวเมืองทั้งหลาย’

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งหกหลอกลวงโจทก์และประชาชนที่เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 4 ประมาณ 30 คน จึงเป็นการหลอกลวงเฉพาะบุคคลที่เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 4 ซึ่งมีจำนวนมากเท่านั้น มิใช่เป็นการหลอกลวงประชาชนโดยทั่ว ๆ ไป ฟ้องดังกล่าวจึงไม่มีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343