สำคัญผิดเรื่องกรมธรรม์ปรกันชีวิต เพราะตัวแทนให้ข้อมูลไม่ตรง มีสิทธิฟ้องเรียกเงินคืนหรือไม่
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 180,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 180,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 14,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนประกันชีวิตของจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ชักชวนให้ลูกค้าทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 2 โดยตัวแทนจะได้รับค่าตอบแทนเป็นค่านายหน้าหลังจากที่จำเลยที่ 2 ได้ออกกรมธรรม์แก่ลูกค้าแล้ว โจทก์รู้จักกับจำเลยที่ 1 และโจทก์ทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 2 โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 รวม 14 ฉบับ ฉบับแรกวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2547 ฉบับที่ 14 เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2550 โดยเมื่อประมาณเดือนเมษายน 2550 จำเลยที่ 1 เสนอขายประกันชีวิตของจำเลยที่ 2 แก่โจทก์ โจทก์ตกลงทำสัญญาด้วย โจทก์ลงลายมือชื่อในคำขอเอาประกันชีวิตท้ายกรมธรรม์ พร้อมชำระเงินค่าเบี้ยประกันภัย 180,000 บาท จำเลยที่ 1 นำส่งคำขอเอาประกันชีวิตและเงินค่าเบี้ยประกันภัยแก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 พิจารณาแล้ว อนุมัติกรมธรรม์ประกันชีวิตแก่โจทก์เลขที่ T131226355 ฉบับวันที่ 20 มิถุนายน 2550 ประเภท สะสมทรัพย์ 20 ปี ตรีคูณ (มีเงินปันผล) จำนวนเงินเอาประกันภัยหรือผลประโยชน์ 1,450,000 บาท เบี้ยประกันภัย 180,003 บาท โดยกรมธรรม์ดังกล่าวระบุว่า ผู้เอาประกันภัยต้องชำระเบี้ยประกันภัย 20 ปี จำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระค่าเบี้ยประกันภัยส่วนที่เกิน 180,000 บาท แทนโจทก์ จำเลยที่ 1 ส่งมอบกรมธรรม์ฉบับดังกล่าวแก่โจทก์แล้ว สำหรับจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่ฎีกา คดีสำหรับจำเลยที่ 1 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า โจทก์ทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 2 ตามกรมธรรม์ประกันชีวิต โดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญของนิติกรรมเป็นโมฆะหรือไม่ และจำเลยที่ 2 ต้องคืนเงินค่าเบี้ยประกันภัยตามฟ้องให้แก่โจทก์หรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ทราบจากจำเลยที่ 1 และตามคำขอเอาประกันชีวิตท้ายกรมธรรม์แล้วว่า สัญญาประกันชีวิตดังกล่าวเป็นแบบสะสมทรัพย์ ประเภท 20 ปี มีเงินปันผล ซึ่งโจทก์ต้องชำระเบี้ยประกันภัยทั้งสิ้น 20 ปี จำเลยที่ 1 ไม่ได้แจ้งแก่โจทก์ว่า ชำระเบี้ยประกันภัยเพียง 7 ปี การทำสัญญาประกันชีวิตจึงตรงตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ และมีผลสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เมื่อโจทก์ไม่ทักท้วงหรือส่งคืนกรมธรรม์ภายใน 15 วัน ตามเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์ประกันชีวิต จึงไม่อาจยกเลิกกรมธรรม์ประกันชีวิตได้ จำเลยที่ 2 จึงไม่จำต้องคืนเงินค่าเบี้ยประกันภัยแก่โจทก์นั้น โจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า ปกติเมื่อจำเลยที่ 1 มาเสนอขายประกัน โจทก์จะถามถึงระยะเวลาที่ต้องส่งเบี้ยประกันภัยทั้งสิ้น และเป็นเงินจำนวนเท่าใด หากโจทก์สนใจ จำเลยที่ 1 จะนำรายละเอียดเอกสารมาอธิบายเพิ่มเติม สำหรับสัญญาประกันชีวิต จำเลยที่ 1 มาเสนอขายประกันชีวิตแก่โจทก์แจ้งว่าเป็นการสะสมทรัพย์ 20 ปี โจทก์เข้าใจว่า หากทำสัญญาประกันชีวิตดังกล่าวจะได้เงินคืนภายหลังจากพ้น 20 ปี จำเลยที่ 1 นำเอกสารมาให้ดู พร้อมกับอธิบายว่าการส่งเงินนั้นส่งเพียง 7 ปี และขีดเส้นใต้ไว้ใต้เลข 7 ส่วนด้านล่างที่เขียนด้วยลายมือ จำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียนและอธิบายว่าส่งเบี้ยประกันภัยปีละ 176,407 บาท รวม 7 ปี เป็นเงิน 1,234,849 บาท โดยโจทก์จะได้รับเงินคืน 4,260,000 บาท เมื่อหักต้นเงินแล้ว โจทก์จะได้รับผลประโยชน์รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,025,151 บาท หลังจากอธิบายเสร็จ จำเลยที่ 1 ก็วงกลมซ้ำที่เลข 7 เพื่อเน้นว่าส่งเบี้ยประกันภัยเพียง 7 ปี เท่านั้น หลังจากนั้นประมาณ 2 เดือน โจทก์แจ้งจำเลยที่ 1 ว่าประสงค์จะซื้อกรมธรรม์ตามที่จำเลยที่ 1 เสนอ พร้อมกับชำระค่าเบี้ยประกันภัย 180,000 บาท ต่อมาจำเลยที่ 1 นำกรมธรรม์มาส่งมอบให้โจทก์ โจทก์ตรวจสอบแล้วปรากฏว่ากรมธรรม์มีรายละเอียดไม่ตรงกับเงื่อนไขที่จำเลยที่ 1 เสนอขายโจทก์โดยเฉพาะที่ระบุว่า จะต้องชำระเบี้ยประกันภัย 20 ปี โจทก์ทักท้วงจำเลยที่ 1 ว่าไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 1 พูดว่าให้รับไปก่อน แล้วจะแก้ไขให้ทีหลังโดยจะทำใบปะหน้าเพิ่มเติมเงื่อนไขในกรมธรรม์ว่าส่ง 7 ปี คุ้มครอง 20 ปี จากนั้นโจทก์ทวงถามจำเลยที่ 1 ให้แก้ไขกรมธรรม์ให้ถูกต้องมาโดยตลอด เพราะจำเลยที่ 1 จะต้องมาเก็บค่าเบี้ยประกันภัยฉบับอื่น ๆ เป็นประจำทุกเดือน ทุกครั้งจำเลยที่ 1 จะแจ้งว่ากำลังให้เสมียนดำเนินการอยู่ และโจทก์เคยทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการแก้ไขกรมธรรม์กับจำเลยที่ 2 ระบุเงื่อนไขไว้ด้วยว่า หากแก้ไขไม่ได้ก็ขอให้ดำเนินการยกเลิกกรมธรรม์ฉบับดังกล่าวเสีย จนกระทั่งถึงกำหนดเวลาส่งเบี้ยประกันภัยปีที่ 2 ในวันที่ 29 มิถุนายน 2551 ซึ่งจำเลยที่ 2 ผ่อนผันให้ชำระได้จนถึงวันที่ 29 กรกฎาคม 2551 โจทก์เรียกจำเลยที่ 1 มาพบในวันที่ 26 กรกฎาคม 2551 และให้จำเลยที่ 1 เขียนหนังสือรับรองว่าจะดำเนินการแก้ไขให้ตรงตามความต้องการของโจทก์ หากแก้ไขให้ไม่ได้ จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดทุกประการ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ดำเนินการตามที่ตกลงกัน จนวันที่ 16 ธันวาคม 2551 โจทก์แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรปากช่อง และร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย นครราชสีมา และขอความเป็นธรรมไปยังจำเลยที่ 2 วันที่ 24 มีนาคม 2552 จำเลยที่ 1 มาพบโจทก์แจ้งว่าจะยอมรับผิด โจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงไปที่สถานีตำรวจภูธรปากช่องพร้อมลงบันทึกรายงานประจำวันไว้ว่า จำเลยที่ 1 ยอมรับจะชดใช้เงิน 149,000 บาท แก่โจทก์ โดยจะนำเงินมาชำระในวันที่ 31 มีนาคม 2552 แต่เมื่อครบกำหนดจำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้นำเงินมาชำระ ส่วนจำเลยที่ 2 นำสืบต่อสู้ว่า สัญญาประกันชีวิตตามกรมธรรม์ทำขึ้นตรงตามวัตถุประสงค์ของโจทก์แล้ว โดยจำเลยที่ 1 ยืนยันว่าได้เสนอขายกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ 20 ปี มีเงินปันผลตรงตามเงื่อนไขกรมธรรม์ และโจทก์ได้รับกรมธรรม์แล้วไม่ได้ทักท้วงหรือยกเลิกกรมธรรม์ภายใน 15 วัน โจทก์จึงไม่อาจยกเลิกกรมธรรม์ได้ เห็นว่า โจทก์นำสืบว่า โจทก์แสดงเจตนาทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 2 ตามกรมธรรม์ ก็เนื่องจากจำเลยที่ 1 แจ้งโจทก์ว่ากรมธรรม์ดังกล่าวกำหนดให้ชำระเบี้ยประกันภัยเพียง 7 ปี ซึ่งหากโจทก์ชำระเบี้ยประกันภัยปีละ 176,407 บาท รวมเป็นเงิน 1,234,849 บาท โจทก์จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนทั้งสัญญาเป็นเงิน 4,260,000 บาท โจทก์เชื่อในรายละเอียดตามเอกสารที่จำเลยที่ 1 นำเสนอ จึงตกลงทำสัญญาประกันชีวิตฉบับดังกล่าว แต่ความจริงแล้วกรมธรรม์ดังกล่าวกำหนดให้ต้องชำระเบี้ยประกันภัยทั้งสิ้น 20 ปี จึงไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ ในข้อนี้จำเลยที่ 1 เบิกความยอมรับว่า เป็นผู้จัดทำเอกสารไปนำเสนอแก่โจทก์ และตอบทนายโจทก์ถามค้านยอมรับว่า โจทก์เคยเรียกจำเลยที่ 1 ไปพบและสอบถามเรื่องกรมธรรม์ออกมาไม่ถูกต้องกับที่เสนอขาย จำเลยที่ 1 ยอมรับว่า กรมธรรม์ที่เสนอขายให้ไม่ถูกต้องจริง โจทก์จึงมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปยกเลิกกรมธรรม์ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการให้ แม้จำเลยที่ 1 จะเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามติงในข้อนี้ว่า ที่จริงแล้วจำเลยที่ 1 เสนอขายกรมธรรม์ถูกต้อง แต่ได้อธิบายเพิ่มเติมกรณีที่โจทก์สอบถามเรื่องการชำระค่าเบี้ยประกันภัยไม่ครบ 20 ปี จึงอธิบายว่าหากชำระไม่ครบโดยชำระเพียง 7 ปี จะได้รับเงินเท่าใดนั้น นอกจากจะไม่ปรากฏถึงเหตุผลที่จะต้องยกตัวอย่างจำนวนปีที่ผ่อนชำระดังกล่าวให้รับฟังได้แล้ว ยังปรากฏอีกว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 เคยมาตกลงทำความเข้าใจเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันชีวิตหลายครั้งด้วยเหตุผลว่าไม่ตรงตามแบบที่เสนอ แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จำเลยที่ 1 จึงทำหนังสือยอมรับผิด ซึ่งตามเอกสารดังกล่าว ระบุถึงแบบกรมธรรม์ที่มาพูดคุยตกลงกันเป็นแบบ 20TE สอดคล้องกับแบบประกันชีวิตที่ระบุไว้ว่า 20TE PAR (B) จึงน่าเชื่อได้ว่า เป็นการตกลงกันในเรื่องแบบของกรมธรรม์ ที่จำเลยที่ 1 เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามติงดังกล่าวจึงเป็นการขัดแย้งกับเอกสาร นอกจากนี้จำเลยที่ 1 เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านอีกว่า จากกรณีดังกล่าวจำเลยที่ 1 เคยลงบันทึกรายงานประจำวันไว้โดยยอมรับผิดชำระเงิน 149,000 บาท แก่โจทก์ด้วย อันเป็นการสอดคล้องและเจือสมกับทางนำสืบของโจทก์ ทำให้คำเบิกความของโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ทั้งหากจำเลยที่ 1 นำเสนอเงื่อนไขการชำระเบี้ยประกันภัยถูกต้องดังที่จำเลยที่ 1 เบิกความแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลที่จำเลยที่ 1 จะต้องยอมรับผิดชดใช้เงินแก่โจทก์ตามที่ลงบันทึกรายงานประจำวันไว้ พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดทำเอกสารนำไปเสนอแก่โจทก์และแจ้งแก่โจทก์ว่า การทำสัญญาประกันชีวิตดังกล่าวชำระเบี้ยประกันภัยเพียง 7 ปี ก็จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนตามจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 นำเสนอ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากเอกสารแล้ว จะเห็นว่า จำเลยที่ 1 นำเสนอแก่โจทก์ว่า หากโจทก์ชำระเบี้ยประกันภัยปีละ 176,407 บาท เป็นเวลา 7 ปี รวมเป็นเบี้ยประกันภัย 1,234,849 บาท โจทก์จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนในสิ้นปีกรมธรรม์ปีที่ 20 เป็นเงิน 4,260,000 บาท เมื่อหักเบี้ยประกันภัยแล้ว โจทก์จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนทั้งสัญญาเป็นเงินถึง 3,025,151 บาท ทั้งที่ความจริงแล้วโจทก์ต้องชำระเบี้ยประกันภัย 20 ปี เป็นเงิน 3,528,140 บาท โจทก์จึงจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนตามที่กำหนดไว้ท้ายตารางกรมธรรม์ ไม่ใช่ชำระเบี้ยประกันภัยรวมเป็นเงิน 1,234,849 บาท ตามที่จำเลยที่ 1 นำเสนอ การแสดงเจตนาเข้าทำสัญญาประกันชีวิตของโจทก์จึงเกิดจากการสำคัญผิดในจำนวนปีที่ต้องชำระเบี้ยประกันภัย และการสำคัญผิดดังกล่าวเกิดจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนประกันชีวิตของจำเลยที่ 2 เป็นผู้ให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับเงื่อนไขของกรมธรรม์ เมื่อสัญญาประกันชีวิตตามกรมธรรม์เป็นสัญญาประเภทสะสมทรัพย์ ซึ่งหมายถึงสัญญาประกันภัยประเภทที่เมื่อผู้เอาประกันภัยชำระเบี้ยประกันภัยไปแล้วจะมีมูลค่าเงินเวนคืนกรมธรรม์ตามจำนวนที่ระบุไว้ในตารางมูลค่ากรมธรรม์ประกันภัย เพราะฉะนั้นการจะคำนวณว่ากรมธรรม์ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ฉบับใดจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนทั้งสัญญาเป็นเงินจำนวนเท่าใด จึงจำเป็นต้องมีฐานคำนวณจากเบี้ยประกันภัยคูณด้วยจำนวนปีที่ต้องชำระทั้งหมด ทั้งนี้ เพื่อคำนวณเบี้ยประกันภัยทั้งสัญญาว่าต้องชำระเท่าใด และมีความคุ้มครองหรือมีมูลค่าเวนคืนในแต่ละสิ้นปีกรมธรรม์เป็นเงินเท่าใด โดยเมื่อมีการส่งเบี้ยประกันภัยครบตามสัญญาแล้วจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนทั้งสิ้นเป็นเงินเท่าใด ดังนั้น จำนวนปีที่ต้องชำระเบี้ยประกันภัยจึงถือเป็นสาระสำคัญของสัญญาประกันภัย และแม้ในขณะนำเสนอรายละเอียดดังกล่าว จำเลยที่ 1 จะเสนอเบี้ยประกันภัยเพียง 176,407 บาท แต่ขณะทำสัญญาประกันชีวิต โจทก์ชำระเบี้ยประกันภัย 180,000 บาท ซึ่งต่างจากที่จำเลยที่ 1 นำเสนอไว้ในตอนแรกก็ตาม การยอมชำระเบี้ยประกันภัยเพิ่มขึ้นก็อาจเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ตอบแทนที่เพิ่มขึ้น แต่เมื่อโจทก์แสดงเจตนาทำสัญญาประกันชีวิตโดยสำคัญผิดในจำนวนปีที่ต้องชำระเบี้ยประกันภัยโดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ให้ข้อมูลที่ทำให้โจทก์สำคัญผิดอันเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนประกันชีวิตของจำเลยที่ 2 สัญญาประกันชีวิตระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ตามกรมธรรม์ จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า เงื่อนไขทั่วไปแห่งกรมธรรม์ประกันชีวิต หมวด 5 สิทธิในการขอยกเลิกกรมธรรม์กำหนดว่า หากผู้เอาประกันภัยประสงค์จะยกเลิกกรมธรรม์ด้วยเหตุผลใดก็ตาม ผู้เอาประกันภัยสามารถส่งคืนกรมธรรม์มายังบริษัทภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับกรมธรรม์จากบริษัท และบริษัทจะคืนเบี้ยประกันภัยที่เหลือจากการหักค่าตรวจสุขภาพตามที่จ่ายจริงและค่าใช้จ่ายของบริษัทฉบับละ 500 บาท เมื่อโจทก์ได้รับกรมธรรม์แล้ว โจทก์ไม่ได้ทักท้วงหรือใช้สิทธิขอยกเลิกกรมธรรม์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับกรมธรรม์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอยกเลิกกรมธรรม์ได้อีกเพราะพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้วนั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ข้างต้นแล้วว่า กรมธรรม์ประกันชีวิตตกเป็นโมฆะ จึงไม่มีผลผูกพันคู่สัญญาและไม่อาจนำเงื่อนไขทั่วไปแห่งกรมธรรม์ประกันชีวิตดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกาอ้างมาใช้บังคับได้ กรณีต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 วรรคสอง จำเลยที่ 2 จึงต้องคืนเงินค่าเบี้ยประกันภัยแก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
สรุป
การแสดงเจตนาเข้าทำสัญญาประกันชีวิตของโจทก์เกิดจากการสำคัญผิดในจำนวนปีที่ต้องชำระเบี้ยประกันภัย และการสำคัญผิดเกิดจากจำเลยที่ 1 ตัวแทนประกันชีวิตของจำเลยที่ 2 เป็นผู้ให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับเงื่อนไขของกรมธรรม์ ซึ่งจำนวนปีที่ต้องชำระเบี้ยประกันภัยถือเป็นสาระสำคัญของสัญญาประกันภัย สัญญาประกันชีวิตระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 วรรคหนึ่ง เมื่อสัญญาประกันชีวิตตกเป็นโมฆะ จึงไม่มีผลผูกพันคู่สัญญา จำเลยที่ 2 ย่อมไม่อาจนำเงื่อนไขทั่วไปแห่งกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ว่าโจทก์จะต้องใช้สิทธิยกเลิกกรมธรรม์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับกรมธรรม์ มาใช้บังคับได้ กรณีต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง จำเลยที่ 2 จึงต้องคืนเบี้ยประกันภัยแก่โจทก์
ปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายความแสงวรรณ
ทนายความแสงวรรณ เรือนเครือ
72/122 ม.7 ซ.8 ต.วัดไทร อ.เมือง จ.นครสวรรค์ 60000
โทร 084-5795609