หมิ่นประมาททางไลน์กลุ่มผู้ปกครอง ฟ้องได้หรือไม่
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2540 (ที่ถูก 2550) มาตรา 3, 14 และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 2,000,000 บาท
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (1) วรรคสอง ให้ปรับ 30,000 บาท คำขออื่นให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่าฟ้องโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จหรือที่บิดเบือน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (1) ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษ…(1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา” แต่ตามคำฟ้องของโจทก์บรรยายเพียงว่า จำเลยนำคำพูดที่โจทก์พูดกับจำเลยทางโทรศัพท์ว่า “การก้าวล่วงถึงบุพการีใคร ไม่สมควรที่สุจริตชนจะมาพูดกันง่าย ๆ ยกเว้นไม่ได้รับการสั่งสอนเหมือนกัน เข้าใจมั๊ยคะ คุณแม่” ไปแจ้งเจ้าพนักงานตำรวจแล้วจำเลยส่งภาพถ่ายรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานดังกล่าวไปในโปรแกรมไลน์ให้ผู้ปกครองนักเรียนในกลุ่มนักเรียนที่เป็นเพื่อนกับบุตรจำเลย และพิมพ์ข้อความประกอบว่า “แจ้งบันทึกประจำวัน ได้รับการก่อกวนทางโทรศัพท์ และมีการดูหมิ่น ผู้ใหญ่เจอกันที่ศาลแขวงนนทบุรี เด็กเจอกันที่ศาลเยาวชนดุสิต” การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จหรือที่บิดเบือนทั้งหมดหรือบางส่วน โดยตามคำฟ้องไม่ปรากฏว่ารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน และข้อความที่จำเลยพิมพ์ส่งไปในโปรแกรมไลน์นั้นเป็นข้อมูลที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จอย่างไร และข้อความจริงมีอยู่อย่างไร จึงเป็นฟ้องที่ขาดข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำความผิดพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้ดี จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ปัญหาว่าฟ้องชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเมื่อฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่ไม่ชอบอันศาลจะรับไว้พิจารณาได้แล้ว กรณีจึงไม่ต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมคดีส่วนแพ่งในศาลชั้นต้นให้เป็นพับ
สรุป
โจทก์บรรยายเพียงว่าจำเลยนำคำพูดที่โจทก์พูดกับจำเลยทางโทรศัพท์ไปแจ้งเจ้าพนักงานตำรวจแล้วจำเลยส่งภาพถ่ายรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานไปในโปรแกรมไลน์ให้ผู้ปกครองนักเรียนในกลุ่มนักเรียนที่เป็นเพื่อนกับบุตรจำเลย โดยตามคำฟ้องไม่ปรากฏว่ารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานและข้อความที่จำเลยพิมพ์ส่งไปในโปรแกรมไลน์นั้นเป็นข้อมูลที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (1) อย่างไร และข้อความจริงมีอยู่อย่างไร จึงเป็นฟ้องที่ขาดข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำความผิดพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้ดี จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5