ออกเช็คเพื่อชำระหนี้ค่ามัดจำ มีความผิดทางอาญาหรือไม่
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยออกเช็คธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน)สาขาสะพานพระปิ่นเกล้า ลงวันที่ 23 เมษายน 2540 จำนวนเงิน1,472,000 บาท เพื่อชำระหนี้ค่ามัดจำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 33951 ระหว่างนางสาวเนื้อทิพย์ ภูเขียว ผู้จะขายและจำเลยผู้จะซื้อซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยนางสาวเนื้อทิพย์ตกลงให้จำเลยออกเช็คและมอบให้แก่โจทก์เพื่อเป็นการชำระหนี้เงินกู้ที่นางสาวเนื้อทิพย์เป็นหนี้โจทก์อยู่ ต่อมาจำเลยผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินไม่ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินนางสาวเนื้อทิพย์จึงมีสิทธิริบเงินมัดจำตามสัญญา ครั้นเมื่อถึงวันที่ลงในเช็ค โจทก์นำไปเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) สาขาสะพานพระปิ่นเกล้า เพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2540 โดยให้เหตุผลว่าเงินในบัญชีไม่พอจ่าย การกระทำของจำเลยเป็นการออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้องจำเลยไม่ได้ให้การ ถือว่าจำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 จำคุก 1 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ถึงแก่กรรม นางสาวเนื้อทิพย์ภูเขียว บุตรของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าดำเนินคดีต่างผู้ตาย ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 30 กันยายน2539 จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 33951 ตำบลดอกไม้อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ตามเอกสารหมาย จ.1 และจำเลยออกเช็คธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) สาขาสะพานพระปิ่นเกล้า ลงวันที่ 23เมษายน 2540 จำนวนเงิน 1,472,000 บาท มอบให้แก่โจทก์ไว้ เมื่อถึงวันที่ลงในเช็คโจทก์นำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่า เงินในบัญชีไม่พอจ่าย ตามเช็คและใบคืนเช็คเอกสารหมายจ.4 และ จ.5 ตามลำดับ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่าจำเลยได้จ่ายเช็คพิพาทเพื่อเป็นการชำระค่ามัดจำ การสั่งจ่ายเช็คพิพาทของจำเลยจึงเป็นการสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อเช็คพิพาทเรียกเก็บเงินไม่ได้ จำเลยในฐานะผู้สั่งจ่ายจึงต้องรับผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4 เห็นว่า คำว่ามัดจำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 377 นั้น มีความหมายว่าจะต้องเป็นทรัพย์สินซึ่งได้ให้ไว้แก่กันเมื่อเข้าทำสัญญาซึ่งอาจจะเป็นเงินหรือสิ่งมีค่าอื่นซึ่งมีค่าในตัวเองเมื่อสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 2 ระบุว่า ในวันทำสัญญานี้ผู้จะซื้อได้รับเงินจำนวน 1,788,000 บาท เพื่อเป็นการวางมัดจำไว้กับผู้จะขายและผู้จะขายได้รับไว้ถูกต้องแล้ว โดยเงินมัดจำดังกล่าวจำเลยได้สั่งจ่ายเช็คลงวันที่ล่วงหน้า 3 ฉบับ และโจทก์นำมาฟ้องเพียง1 ฉบับ คือเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งเช็คคือหนังสือตราสารซึ่งผู้สั่งจ่ายสั่งธนาคารให้ใช้เงินจำนวนหนึ่งเมื่อทวงถามให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งหรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลอีกคนหนึ่งอันเรียกว่าผู้รับเงินจึงเป็นทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 138 และเป็นสิ่งที่มีค่าในตัวเอง เพราะสามารถเรียกเก็บเงินหรือโอนเปลี่ยนมือได้ จึงส่งมอบให้แก่กันเป็นมัดจำได้ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เช็คพิพาทลงวันที่หลังจากวันทำสัญญาถึง 6 เดือนเศษ มูลหนี้ตามเช็คจึงไม่ใช่เงินมัดจำตามกฎหมาย ขณะที่จำเลยออกเช็คจึงไม่มีการวางมัดจำตามความหมายของกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น อย่างไรก็ดี ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ข้ออื่น ๆ ของจำเลย ทั้งผลการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิในการฎีกาของคู่ความ ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาปัญหาดังกล่าว”
พิพากษายกคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
สรุป
คำว่า มัดจำ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 377มีความหมายว่าจะต้องเป็นทรัพย์สินซึ่งได้ให้ไว้แก่กันเมื่อเข้าทำสัญญาซึ่งอาจจะเป็นเงินหรือสิ่งมีค่าอื่นซึ่งมีค่าในตัวเอง
สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างโจทก์จำเลยระบุว่า ในวันทำสัญญานี้ผู้จะซื้อได้รับเงินจำนวน 1,788,000 บาท เพื่อเป็นการวางมัดจำไว้กับผู้จะขายโดยเงินมัดจำดังกล่าวจำเลยได้สั่งจ่ายเช็คลงวันที่ล่วงหน้า 3 ฉบับ และโจทก์นำมาฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 เพียง 1 ฉบับ เมื่อเช็คเป็นตราสารซึ่งผู้สั่งจ่ายสั่งธนาคารให้ใช้เงินเมื่อทวงถามให้แก่ผู้รับเงินจึงเป็นทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 138 และเป็นสิ่งที่มีค่าในตัวเอง เพราะสามารถเรียกเก็บเงินหรือโอนเปลี่ยนมือได้ จึงส่งมอบให้แก่กันเป็นมัดจำได้แม้เช็คลงวันที่หลังจากวันทำสัญญา เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว