อายุความ กับสัญญาก่อสร้างศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

อายุความ กับสัญญาก่อสร้างศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

อายุความ กับสัญญาก่อสร้าง?

บทกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นนี้คือ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา ๑๙๓/๓๓ สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความห้าปี

(๕) สิทธิเรียกร้องตามมาตรา ๑๙๓/๓๔ (๑) (๒) และ (๕) ที่ไม่อยู่ในบังคับอายุความสองปี

มาตรา ๑๙๓/๓๔ สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ ให้มีกำหนดอายุความสองปี

(๑) ผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรม ผู้ประกอบหัตถกรรม ผู้ประกอบศิลปอุตสาหกรรมหรือช่างฝีมือ เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ค่าการงานที่ได้ทำ หรือค่าดูแลกิจการของผู้อื่น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง

 

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เป็นตัวอย่างให้ศึกษา มีดังต่อไปนี้  คือ

คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ ๓๓๕๘/๒๕๖๐

จำเลยที่ 1 อ้างว่า ฟ้องโจทก์ที่เรียกเอาค่าจ้างงวดสุดท้ายและค่าจ้างงานเพิ่มเติมจากจำเลยที่ 1 ขาดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ดังนั้น การวินิจฉัยเรื่องอายุความตามฟ้องของโจทก์นั้น ศาลจึงต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวได้ทั้งหมด เมื่อตอนท้ายมาตรา 193/34 (1) ได้บัญญัติเป็นข้อยกเว้นไว้ว่า เว้นแต่การใช้สิทธิเรียกร้องค่าการงานที่ได้ทำเพื่อกิจการของลูกหนี้ ให้มีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5) ศาลจึงมีอำนาจวินิจฉัยว่า หนี้ค่าการงานในส่วนนี้ของโจทก์มีอายุความตามหลัก 2 ปี หรือมีอายุความตามข้อยกเว้น 5 ปี แม้โจทก์เพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ก็ตาม ก็ไม่เข้าข่ายเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตามที่จำเลยที่ 1 อ้าง

 

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 10,316,139.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 9,128,832.47 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

 

จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้องและจำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ชำระเงิน 8,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1

 

 

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับฎีกาของจำเลยที่ 2 นั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าแห่งการงานแก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะจำเลยที่ 2 กระทำการแทนจำเลยที่ 1 จึงยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 7 จึงไม่กระทบสิทธิของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิฎีกา ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการแรกว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ในส่วนค่าจ้างงวดสุดท้ายและค่าจ้างงานเพิ่มเติมเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องค่าการงานที่ได้ทำเพื่อกิจการของจำเลยที่ 1 เข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) ทำให้มีอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (5) ไม่ใช่ 2 ปี เป็นการวินิจฉัยในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ คดีนี้เมื่อโจทก์ยื่นฟ้อง จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้และฟ้องแย้ง โดยในเรื่องอายุความนั้น จำเลยที่ 1 ต่อสู้ว่า โจทก์ร่วมส่งมอบงานงวดสุดท้ายในเดือนพฤษภาคม 2552 โจทก์จึงย่อมมีสิทธิบังคับตามสิทธิเรียกร้องดังกล่าวภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่ช่วงเวลาดังกล่าว แต่โจทก์เพิ่งฟ้องคดีนี้ล่วงเลยอายุความ 2 ปี แล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ และเมื่อโจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง โดยบรรยายถึงเรื่องอายุความว่า จำเลยที่ 1 มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแจ้งไปยังโจทก์เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2553 การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2555 จึงยังอยู่ในระยะเวลา 2 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ทั้งนี้แม้ในชั้นพิจารณา ตามที่โจทก์นำสืบพยานนั้น จะมิได้มีการนำสืบให้ศาลเห็นว่าคดีของโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ 5 ปี จำเลยที่ 1 จึงฎีกาเป็นประเด็นข้อต่อสู้ว่า ในการพิจารณาคดีนี้ในศาลชั้นต้น โจทก์ยังมิได้มีการหยิบยกว่าคดีของโจทก์มีอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193 (5) เพราะเหตุเข้าข้อยกเว้น ตามมาตรา 193/34 (1) ตอนท้าย เพิ่งจะมาหยิบยกเป็นข้อต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ และโดยที่กำหนดอายุความดังกล่าวเป็นเรื่องข้อยกเว้น จึงเป็นหน้าที่และภาระการพิสูจน์ของโจทก์ที่จะนำสืบให้ศาลเห็นเป็นที่กระจ่างชัดว่า การว่าจ้างโจทก์ให้ก่อสร้างรีสอร์ตและบ้านพักตามฟ้องนั้น เป็นกรณีทำเพื่อประโยชน์ทางการค้าของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง แต่โจทก์ก็หาได้หยิบยกและนำสืบเพื่อพิสูจน์ถึงข้อยกเว้นดังกล่าวให้ศาลเห็นไม่ ดังนั้น ปัญหาเรื่องอายุความ 5 ปี จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งมิใช่ปัญหาเกี่ยวกับด้วยความสงบเรียบร้อย จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 รับวินิจฉัยปัญหานี้ให้ และพิพากษาให้ฝ่ายจำเลยที่ 1 แพ้คดีตามคำฟ้องนั้น จึงไม่ชอบ คดีต้องฟังตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้แล้วว่า คดีในส่วนคำฟ้องของโจทก์นั้นขาดอายุความแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระค่าแห่งการงานอีก 5,800,000 บาท แก่โจทก์นั้น จึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาพิเคราะห์ฎีกาในข้อนี้ของจำเลยที่ 1 แล้ว เห็นว่า ในชั้นที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำให้การและฟ้องแย้งนั้น ได้ยกข้อต่อสู้เรื่องอายุความตัดฟ้องของโจทก์ไว้แล้วว่า เนื่องจากโจทก์ส่งมอบงานงวดสุดท้ายในเดือนพฤษภาคม 2552 โจทก์จึงมีสิทธิบังคับตามสิทธิเรียกร้องภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่ช่วงเวลาดังกล่าว แต่โจทก์เพิ่งฟ้องคดีนี้ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2555 จึงล่วงเลยอายุความ 2 ปี แล้ว เท่ากับจำเลยที่ 1 อ้างว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) แล้ว ดังนั้น การวินิจฉัยเรื่องอายุความตามฟ้องของโจทก์นั้น ศาลจึงต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวได้ทั้งหมด เมื่อความตอนท้ายมาตรา 193/34 (1) ได้มีบัญญัติเป็นข้อยกเว้นไว้ว่า เว้นแต่การใช้สิทธิเรียกร้องค่าการงานที่ได้ทำเพื่อกิจการของลูกหนี้ คือ จำเลยที่ 1 นั้นเอง ให้มีอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (5) ศาลจึงมีอำนาจวินิจฉัยได้ว่า กรณีหนี้ค่าการงานในส่วนนี้ของโจทก์นั้น มีอายุความตามหลัก 2 ปี หรือเข้าข้อยกเว้นเป็น 5 ปี แม้โจทก์จะเพิ่งกล่าวอ้างถึงในชั้นอุทธรณ์ก็ตามก็ไม่เข้าข่ายเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตามที่จำเลยที่ 1 อ้าง ปัญหาที่ต้องพิจารณาต่อไปว่า กรณีของโจทก์ที่รับจ้างก่อสร้างรีสอร์ตและบ้านพักให้จำเลยที่ 1 นั้น ถือเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง โดยตรงหรือไม่ ข้อนี้เห็นว่า จากข้อเท็จจริงที่นำสืบเกี่ยวกับรายละเอียดในการก่อสร้างเห็นได้ชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ว่าจ้างโจทก์ให้ปลูกสร้างบ้านตามโครงการดังกล่าวก็เพื่อประสงค์ที่จะนำบ้านในลักษณะทำเป็นรีสอร์ตออกให้บริการเช่าเป็นห้องพัก แก่ลูกค้าเพื่อประโยชน์ทางการค้าของจำเลยที่ 1 ทั้งฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 เองก็ยังเรียกค่าขาดรายได้จากการเปิดโครงการล่าช้าจากโจทก์ด้วย แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ทำโครงการสร้างบ้านเป็นรีสอร์ต ออกให้เช่าบริการแก่ลูกค้า อันเป็นการทำเพื่อกิจการของจำเลยที่ 1 เอง กรณีจึงเข้าข้อยกเว้นตามท้าย มาตรา 193/34 (1) มีอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (5) ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัย เมื่อโจทก์ส่งมอบงานงวดสุดท้ายและขอเบิกเงินค่าจ้างงวดสุดท้ายและค่าจ้างงานเพิ่มจากจำเลยที่ 1 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2552 การบังคับสิทธิเรียกร้องเอาค่าจ้างค้างชำระจึงต้องเริ่มนับจากวันดังกล่าว เมื่อนับถึงวันฟ้องคือวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2555 จึงยังไม่เกินกำหนด 5 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ข้อวินิจฉัยในเรื่องอายุความของศาลอุทธรณ์ภาค 7 นั้น ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

 

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

 

 

ดังนั้นพอสรุปได้ว่า ค่าจ้างงวดสุดท้ายและค่าจ้างงานเพิ่มเติมจากจำเลยที่ 1 ขาดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1)  การใช้สิทธิเรียกร้องค่าการงานที่ได้ทำเพื่อกิจการของลูกหนี้ ให้มีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5)