กรณีสัญญาก่อสร้าง เป็นสัญญาขัดต่อกฎหมาย หรือไม่ ?
บทกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นนี้คือ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๔๑๑ บุคคลใด ได้กระทำการ เพื่อชำระหนี้ เป็นการอันฝ่าฝืน ข้อห้ามตามกฎหมาย หรือ ศีลธรรมอันดี ท่านว่า บุคคลนั้น หาอาจจะ เรียกร้องคืนทรัพย์ได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่เป็นตัวอย่างให้ศึกษา มีดังต่อไปนี้ คือ
คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ ๑๑๙๐/๒๕๖๐
โจทก์กับ บ. และ ว. ร่วมกันทำกิจการค้าใช้ชื่อว่า “กิจการร่วมค้า ซ.” เข้าทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนสายบางนา – บางพลี – บางประกง กับจำเลย ต่อมาเกิดข้อพิพาทตามสัญญาจ้างตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7277/2549 ระหว่าง บ. กับพวก ผู้ร้อง ก. ผู้คัดค้าน ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนเกิดจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่มีผลผูกพันจำเลย และปฏิเสธไม่รับบังคับให้ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ เมื่อกิจการร่วมค้า ซ. ไม่ได้รับราคาที่เพิ่มเติมจากจำเลย โจทก์ซึ่งเป็นหุ้นส่วนในกิจการร่วมค้า ซ. จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในสัญญาจ้างเหมาดังกล่าวย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกคืนเงินราคาคงที่เพิ่มเติมและดอกผลค่าผ่านทางด่วนจากจำเลยในฐานลาภมิควรได้ โดยไม่จำเป็น ต้องฟ้องร่วมกับ บ. และ ว. และเมื่อคดีนี้ โจทก์และจำเลยต่างเป็นคู่ความในคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7277/2549 ซึ่งได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงไว้แล้วว่าโจทก์กับนิติบุคคลต่างประเทศ 2 ราย ดังกล่าว ทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนกับจำเลยโดยไม่สุจริตมาตั้งแต่ต้น โจทก์จึงมีส่วนร่วมในการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนเป็นผลให้สัญญาดังกล่าวไม่มีผลผูกพันจำเลย แม้โจทก์กับพวกจะทำงานตามสัญญาจ้างเหมานั้นเสร็จสิ้นแล้วโดยส่งมอบโครงการทางด่วนให้จำเลยรับไปและมีราคาคงที่เพิ่มเติมภายหลังก็ตาม ก็ถือได้ว่าโจทก์ได้กระทำการเพื่อชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกราคาคงที่เพิ่มเติมและค่าดอกผลในค่าผ่านทางด่วนจากจำเลยในฐานะลาภมิควรได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 411
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงิน 9,683,686,389.76 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 6,039,893,254 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ในฐานะหุ้นส่วนกิจการร่วมค้าบีบีซีดี และในนามของกิจการร่วมค้าบีบีซีดี และให้จำเลยส่งมอบดอกผลอันเกิดจากทางด่วนสายบางนา – บางพลี – บางปะกง คือ ค่าผ่านทางซึ่งจำเลยเรียกเก็บจากผู้ใช้ทางด่วนสายบางนา – บางพลี – บางปะกง นับตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชดใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยดังกล่าวข้างต้นให้แก่โจทก์ในฐานะหุ้นส่วนกิจการร่วมค้าบีบีซีดี และในนามกิจการร่วมค้าบีบีซีดีเสร็จสิ้น
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า โจทก์กับนิติบุคคลอีก 2 ราย คือ บิลฟิงเกอร์ เบอร์เกอร์ เอจี และวัลเทอร์ เบา เอจี ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้ร่วมเข้ากันเป็นกิจการร่วมค้า มีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการรับเหมาและก่อสร้างทางพิเศษ (ทางด่วน) ใช้ชื่อว่า “กิจการร่วมค้า บีบีซีดี” ส่วนจำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทรัฐวิสาหกิจ เป็นหน่วยงานทางปกครองที่จัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายฝ่ายมหาชน คือ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2515 มีวัตถุประสงค์ในการสร้างหรือจัดให้มีด้วยวิธีการใด ๆ ตลอดจนบำรุงและรักษาทางพิเศษ ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นผู้แทนมีอำนาจกระทำการแทนจำเลย เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2538 กิจการร่วมค้าบีบีซีดีและจำเลยโดยนายฟ้า ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้ทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนสายบางนา – บางพลี – บางปะกง โดยตกลงราคาค่าจ้างเหมาซึ่งรวมถึงค่ากำไร ค่าภาษี ต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เป็นเงินทั้งสิ้น 25,192,950,000 บาท นับจากวันที่จำเลยได้มีหนังสือแจ้งบอกกล่าวให้มีการเริ่มงาน แต่จำเลยไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างได้และมีเหตุการณ์อื่นอีกที่จะต้องมีการปรับวันกำหนดแล้วเสร็จ วันที่ 18 มิถุนายน 2541 จำเลยและกิจการร่วมค้าบีบีซีดีได้ทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมโดยขยายวันกำหนดแล้วเสร็จของงานออกไปอีก 11 เดือน เมื่อกิจการร่วมค้าบีบีซีดีทำงานตามสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนแล้วเสร็จและส่งมอบโครงการทางด่วนให้แก่จำเลยรับไปเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2543 จำเลยชำระค่าจ้างให้กิจการร่วมค้าบีบีซีดีจำนวน 25,192,950,000 บาท ส่วนราคาคงที่ที่ปรับเพิ่มขึ้น 6,039,893,254 บาท จำเลยไม่ยอมชำระให้กิจการร่วมค้าบีบีซีดีอ้างว่าจำเลยไม่ได้ตกลงด้วย กิจการร่วมค้าบีบีซีดีได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการให้วินิจฉัยชี้ขาดตามข้อตกลงโดยอาศัยมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 จำเลยยื่นคำคัดค้าน อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้จำเลยชำระเงินราคาคงที่เพิ่มขึ้นให้แก่กิจการร่วมค้าบีบีซีดีพร้อมดอกเบี้ย แต่จำเลยไม่ยอมชำระ กิจการร่วมค้าบีบีซีดีได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ขอให้พิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 จำเลยยื่นคำคัดค้าน ศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิพากษาบังคับให้ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ในที่สุดวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2550 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนเกิดจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่มีผลผูกพันจำเลย คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามสัญญาจ้างเหมาดังกล่าวซึ่งเกิดจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงฝ่าฝืนต่อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน โดยปฏิเสธไม่รับบังคับให้ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 44 พิพากษากลับให้ยกคำร้องขอของกิจการร่วมค้าบีบีซีดี ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7277/2549 ระหว่าง บิลฟิงเกอร์ เบอร์เกอร์ เอจี กับพวก ผู้ร้อง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ผู้คัดค้าน เมื่อกิจการร่วมค้าบีบีซีดีไม่ได้รับราคาคงที่เพิ่มเติมจากจำเลย โจทก์ซึ่งเป็นหุ้นส่วนในกิจการร่วมค้าบีบีซีดีจึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อ้างว่าเมื่อสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนไม่มีผลผูกพันจำเลย จึงเป็นผลให้จำเลยได้รับโครงการทางด่วนที่โจทก์ส่งมอบอันเป็นการที่โจทก์กระทำเพื่อชำระหนี้ซึ่งจำเลยได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้อันเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ ถือว่าเป็นลาภมิควรได้ที่จำเลยจะต้องคืนทางด่วนที่ได้รับมาให้แก่โจทก์ซึ่งคิดเป็นมูลค่าเท่ากับค่าจ้างเหมาและค่าจ้างเพิ่มเติมที่จำเลยต้องชำระ แต่เนื่องจากโครงการทางด่วนมีสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไปแล้ว จำเลยจึงต้องชดใช้เงินค่าโครงการทางด่วนให้แก่โจทก์แทน ซึ่งเมื่อหักกับเงินค่าจ้างที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์ไปแล้ว ยังคงมีเงินค่าโครงการทางด่วนที่จำเลยจะต้องคืนแก่โจทก์อยู่อีกเท่ากับจำนวนค่าจ้างเพิ่มเติมพร้อมดอกเบี้ย นอกจากนี้จำเลยยังต้องส่งมอบดอกผลในค่าผ่านทางซึ่งจำเลยเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการโครงการทางด่วนให้แก่โจทก์อีกด้วยในระหว่างที่จำเลยยังไม่ได้ชดใช้เงินแก่โจทก์
พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิเรียกเงินราคาคงที่เพิ่มเติมและดอกผลในค่าผ่านทางด่วนจากจำเลยฐานลาภมิควรได้หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า โจทก์จะมีสิทธิเรียกเงินราคาคงที่เพิ่มเติมและดอกผลในค่าผ่านทางด่วนจากจำเลยฐานลาภมิควรได้หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาว่าการกระทำของโจทก์เพื่อชำระหนี้นั้นเป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีหรือไม่ด้วย ซึ่งประมวล
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
ดังนั้นพอสรุปได้ว่า สัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนเกิดจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่มีผลผูกพัน ถือได้ว่ากระทำการเพื่อชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี