หลักการและกฎหมายที่เกี่ยวข้องของกฎหมายควบคุมอาคาร
กฎหมายควบคุมอาคาร คือกฎหมายที่มีไว้เพื่อควบคุมการก่อสร้างอาคารต่างๆ ให้มีความปลอดภัยมั่นคงแข็งแรง เหมาะสมแก่การใช้อาคารตามแต่ประเภทของอาคารนั้นๆ เช่น การป้องกันอัคคีภัย ระบบระบายอากาศ เป็นต้น ให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย รวมไปถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม เช่นการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยสู่ทางระบายน้ำสาธารณะ ซึ่งในปัจจุบันมีอาคารมากมายหลายประเภท เช่น ตึกแถว ร้านค้า ตลาด โรงเรียนและอื่นๆ โดยอาคารเหล่านี้ล้วนถือเป็นอาคารสารธารณะที่มีคนจำนวนมากเข้าไปใช้สอยอาคารในแต่ละวัน ดังนั้นความมั่นคงแข็งแรงและความปลอดภัยของผู้ใช้อาคารจึงเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง หากไม่มีกฎหมายควบคุมการก่อสร้างอาคารเหล่านี้ให้ได้มาตราฐานทางวิศวกรรมก็อาจเกิดอันตรายแก่ประชาชนทั่วไปที่ใช้อาคารเหล่านั้นได้จึงจำเป็นจะต้องมีกฎหมายมาควบคุมการก่อสร้างอาคารต่างๆ เหล่านี้ไว้ ซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวกับการควบคุมอาคารนั้นได้แก่
1.พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
2.กฎกระทรวง ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดรายละเอียดการปฏิบัติในการก่อสร้าง รวมทั้งรายละเอียดเกี่ยวงานทางด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม เป็นต้น
3.ข้อบัญญัติท้องถิ่นต่างๆ โดยข้อบัญญัติท้องถิ่นนี้จะมีลักษณะเป็นการกำหนดรายละเอียดเฉพาะท้องถิ่นไป เช่น ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครก็ใช้บังคับเฉพาะในเขตของกรุงเทพมหานคร เทศบัญญัติต่างๆ ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล ก็จะใช้บังคับเฉพาะในเขตเทศบาลหรือตำบลนั้นๆ ไป โดยแต่ละท้องถิ่นนั้นก็จะเป็นผู้พิจารณาดำเนินการออกข้อบัญญัติท้องถิ่นดังกล่าวนี้เอง
ในส่วนขอบเขตของกฎหมายควบคุมอาคารนี้จะไม่ได้ใช้บังคับทั่วประเทศแต่เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในท้องที่ที่มีความเจริญ หรือมีการก่อสร้างค่อนข้างหนาแน่น โดยท้องที่ใดที่จะอยู่ภายใต้กฎหมายควบคุมอาคารจะต้องมีประกาศพระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ในท้องที่นั้นๆ หรือประกาศเขตผังเมืองรวมตามกฎหมายว่าด้วยผังเมืองเสียก่อน กฎหมายควบคุมอาคารจึงจะมีผลบังคับใช้ในท้องที่นั้น โดยเมื่อมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ในท้องที่ใดก็จะเรียกท้องที่นั้นว่า “เขตควบคุมอาคาร” หรือหากเป็นกรณีที่พื้นที่ที่อยู่ในเขตผังเมืองตามกฎหมายผังเมืองแล้ว การก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนอาคารต่างๆ ก็จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อนจึงจะดำเนินการต่างๆ ได้ แต่ในกรณีของอาคารสูง อารคารใหญ่พิเศษ อาคารชุมนุมคน และโรงมหรสพ ไม่ว่าจะดำเนินการ ก่อสร้าง ดำดแปลง รื้อถอน เคลื่อนย้าย ใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร ตรงที่ใดก็ตาม ไม่ว่าจะอยู่ในเขตควบคุมอาคาร หรือนอกเขตควบคุมอาคาร การดำเนินการต่างๆ ดังกล่าวจะกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นเสียก่อนในทุกกรณี โดยคำว่าเจ้าพนักงานท้องถิ่นก็หมายความถึงเจ้าพนักงานท้องถิ่นในท้องที่นั้น เช่น หากเป็นในเขตกรุงเทพมหานครก็หมายถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หากเป็นในเขตเทศบาลเจ้าพนักงานท้องถิ่นก็จะหมายถึงนายกเทศมนตรี เป็นต้น
ปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายความแสงวรรณ
ทนายความแสงวรรณ เรือนเครือ
72/122 ม.7 ซ.8 ต.วัดไทร อ.เมือง จ.นครสวรรค์ 60000
โทร 084-5795609