แก้ไขวันที่ในเช็คโดยผู้สั่งจ่ายไม่ยินยอม มีความผิดทางอาญาหรือไม่

แก้ไขวันที่ในเช็คโดยผู้สั่งจ่ายไม่ยินยอม มีความผิดทางอาญาหรือไม่

 

แก้ไขวันที่ในเช็คโดยผู้สั่งจ่ายไม่ยินยอม มีความผิดทางอาญาหรือไม่

 

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ให้จำคุก3 เดือน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปรากฏว่าในเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.1ได้ลงวันที่สั่งจ่ายไว้ 2 ครั้ง ครั้งแรกลงวันที่ 30 ธ.ค. 28ตรงเลข 0 (ศูนย์) มีรอยหมึกเขียนทับหนากว่าตัวเขียนอื่น และมีชื่อจำเลยเซ็นกำกับไว้ข้างหน้า ส่วนบรรทัดถัดลงมาเป็นตราประทับลงวันที่ 17 มี.ค. 2530 ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 17มีนาคม 2530 โดยให้เหตุผลว่า “ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายไม่เหมือนตัวอย่างที่ให้ไว้ และให้ผู้สั่งจ่ายลงนามเต็มกำกับการแก้ไข”โจทก์เบิกความว่าวันที่สั่งจ่ายครั้งแรก จำเลยมิได้ลงชื่อกำกับได้พิจารณาเช็คดังกล่าวแล้ว มีชื่อจำเลยเซ็นกำกับไว้ข้างหน้าวันที่สั่งจ่ายครั้งแรกเท่านั้น ซึ่งน่าจะเป็นเพราะเลข 0 (ศูนย์)มีการเขียนทับลงไปเป็นรอยอยู่ ส่วนที่ตราประทับลงวันที่ 17 มี.ค.2530 ไม่มีลายเซ็นชื่อจำเลยกำกับ เห็นว่า ถ้าจำเลยเป็นผู้ประทับวันที่สั่งจ่ายดังกล่าว จำเลยก็น่าจะเซ็นชื่อกำกับและขีดฆ่าวันสั่งจ่ายเดิมออกเสีย แต่ก็มิได้กระทำเช่นนั้น จึงต้องฟังว่าจำเลยมิได้เป็นผู้ประทับตราลงวันที่ 17 มี.ค. 2530 ซึ่งมุ่งหมายจะให้เป็นวันสั่งจ่ายครั้งใหม่ เช็คพิพาทถือได้ว่ามีผู้แก้ไขวันที่สั่งจ่ายใหม่อันเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญของเช็คโดยจำเลยมิได้ยินยอมด้วย เช็คนั้นจึงเสียไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1007 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน.

สรุป

จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทลงวันที่ 30 ธันวาคม 2528 ต่อมามีผู้ประทับตราลงวันที่ 17 มีนาคม 2530 ในบรรทัดถัดลงมาโดยจำเลยมิได้เป็นผู้ประทับตราวันเดือนปีซึ่งมุ่งหมายจะให้เป็นวันสั่งจ่ายครั้งใหม่ จึงถือได้ว่ามีผู้แก้ไขวันที่สั่งจ่ายใหม่อันเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญของเช็คโดยจำเลยมิได้ยินยอมด้วยเช็คนั้นจึงเสียไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1007วรรคหนึ่ง จำเลยจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ.