ความหมายของผู้กู้ยืมเงินตาม พรก.กู้ยืมอันเป็นการฉ้อโกง ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

ความหมายของผู้กู้ยืมเงินตาม พรก.กู้ยืมอันเป็นการฉ้อโกง ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

ความหมายของผู้กู้ยืมเงินตาม พรก.กู้ยืมอันเป็นการฉ้อโกง ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 886/2536

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นพนักงานอัยการ มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนพ.ศ. 2527 มาตรา 10, 16 จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นกรรมการ จำเลยที่ 2 ที่ 3และที่ 5 สองในสามคนลงชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 กระทำการผูกพันจำเลยที่ 1 ได้ เมื่อระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม 2526 ถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2527 อันเป็นวันก่อนที่พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนพ.ศ. 2527 ใช้บังคับ และเมื่อระหว่างวันที่ 13 พฤศจิกายน 2527ถึงวันที่ 18 มิถุนายน 2528 ซึ่งเป็นวันที่พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ใช้บังคับแล้วจำเลยทั้งหกกับพวกโดยเจตนาทุจริตได้ร่วมกันหลอกลวงฉ้อโกงประชาชนด้วยการโฆษณา ประกาศแพร่ข่าวให้ปรากฏต่อประชาชน จัดตั้งสายซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยทั้งหกกับพวกและจัดให้มีบุคคลตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไปชักชวนบุคคลตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปและประชาชนเพื่อให้มีการให้กู้ยืมเงิน โดยแอบอ้างว่าจำเลยทั้งหกได้ร่วมกันประกอบธุรกิจจัดหาเงินทุนรับกู้ยืมเงินเป็นปกติธุระ เป็นตัวแทนนายหน้า และจัดหาผลประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไปในลักษณะของการลงทุนซื้อขายสินค้า การลงทุนในกิจการอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซื้อขายสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์โดยประชาชนผู้ร่วมลงทุนหรือผู้ให้กู้ยืมเงินจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนในรูปของเงินปันผลในอัตราร้อยละ 8 ต่อเดือน เป็นรายเดือนหรือในอัตราร้อยละ 96 ต่อปี อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ซึ่งกำหนดไม่เกินร้อยละ 16 ต่อปีตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง อัตราสูงสุดของดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืม(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2524 ออกตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้ผู้กู้ยืมของสถาบันการเงินพ.ศ. 2523 ทั้งนี้ โดยจำเลยทั้งหกกับพวกจะเป็นตัวแทนจัดผลประโยชน์ให้แก่ประชาชนผู้ร่วมลงทุนหรือผู้ให้กู้ยืมเงินซึ่งจำเลยทั้งหกกับพวกจะรับโดยไม่จำกัดจำนวนคนและจำนวนเงินเนื่องจากการโฆษณา ประกาศแพร่ข่าว และชักชวนของจำเลยทั้งหกกับพวกดังกล่าวเป็นเหตุให้ประชาชนซึ่งรวมทั้งนาวาอากาศเอกใบเตย ผู้เสียหายกับพวกจำนวนไม่น้อยกว่า 185 คน หลงเชื่อคำอวดอ้างของจำเลยกับพวกดังกล่าวจึงให้จำเลยทั้งหกกับพวกกู้ยืมเงินไปก่อนวันที่พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนพ.ศ. 2527 มีผลใช้บังคับเป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่า20,462,000 บาท และประชาชนรวมทั้งนาวาอากาศหญิงจารุวรรณ สุวรรณรักษ์ ผู้เสียหายกับพวกจำนวนไม่น้อยกว่า 449 คน หลงเชื่อคำอวดอ้างของจำเลยทั้งหกกับพวกดังกล่าวได้ให้จำเลยทั้งหกกับพวกกู้ยืมเงินไปในระหว่างวันที่พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนพ.ศ. 2527 มีผลใช้บังคับแล้วรวมเป็นเงินทั้งสิ้น57,565,000 บาท โดยจำเลยกับพวกได้ร่วมกันทำและลงชื่อในเอกสารสัญญาและตราสารในการกู้ยืมเงินนั้นในลักษณะต่าง ๆ เช่น หนังสือสัญญาการลงทุน เช็คและหรือใบเสร็จรับเงินมอบให้แก่ผู้เสียหายและประชาชนทั่วไปเพื่อเป็นหลักฐานในการรับเงินดังกล่าวไป แล้วจำเลยทั้งหกกับพวกได้ร่วมกันนำเงินดังกล่าวไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวไม่ยอมคืนเงินร่วมลงทุนหรือเงินกู้ยืมดังกล่าวให้แก่ผู้เสียหายตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2528 ตลอดมา และหลบหนีไปอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8, 10 และ 16 แห่งพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลมักกะสัน ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากรัฐมนตรีให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามพระราชกำหนดนี้มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยทั้งหกซึ่งได้กระทำความผิดดังกล่าวเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามกฎหมายว่าด้วยการล้มละลายและมีสินทรัพย์ไม่พอชำระหนี้สินและเห็นสมควรให้มีการดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยไว้ก่อนเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนผู้ให้กู้ยืมเงิน นอกจากนี้พนักงานเจ้าหน้าที่ยังได้ทำการสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งหมดเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดตาม มาตรา 4 และมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 จำเลยทั้งหกเป็นผู้ต้องหาว่า กระทำความผิดบทกฎหมายดังกล่าวเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวมีสินทรัพย์ไม่พอชำระหนี้ ซึ่งจำเลยทั้งหกเป็นหนี้ผู้ให้กู้ยืมเงินหลายรายเป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่า80,027,000 บาท และหนี้นั้นกำหนดจำนวนได้แน่นอนขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งหกเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 และพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527

ในระหว่างส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยทั้งหกโจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งหกชั่วคราว ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งหกชั่วคราวตามคำร้อง

จำเลยที่ 1 ไม่ยื่นคำให้การ

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า มิได้ร่วมกับจำเลยที่ 1ประกาศโฆษณาข้อความเท็จหลอกลวงผู้เสียหายทุกคนตามที่โจทก์อ้าง การทำสัญญาร่วมลงทุนและการออกเช็คให้แก่ผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้กระทำไปภายในขอบวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ทุกประการ จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิใช่ผู้กู้ยืมเงินจากผู้เสียหาย แต่จำเลยที่ 1 เป็นผู้กู้ยืมเงินและรับเงินจากผู้เสียหายโดยตรง โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้ร่วมรับผิด จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 4 และที่ 6 ให้การว่า มิได้ร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้อง จำเลยที่ 4 เป็นผู้เสียหายคนหนึ่งได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ในข้อหาฉ้อโกงประชาชนและความผิดต่อพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ตามคดีหมายเลขดำที่ 2318/2528หมายเลขแดงที่ 1191/2529 ของศาลอาญา จำเลยที่ 4 และที่ 6มิได้โฆษณาหรือชักชวนให้ประชาชนนำเงินมาร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 1และมิได้ร่วมกับจำเลยอื่นประกอบธุรกิจจัดหาเงินทุน รับกู้ยืมเงินเป็นปกติธุระ เป็นตัวแทนหรือนายหน้า และจัดหาผลประโยชน์ให้แก่ประชาชน หากแต่จำเลยที่ 4 เป็นตัวแทนของผู้เสียหายในการนำเงินไปร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 1 และเป็นผู้รับผลประโยชน์จากจำเลยที่ 1 ไปมอบให้แก่ผู้เสียหาย จำเลยที่ 4 และที่ 6มิได้เป็นลูกหนี้ของผู้เสียหาย ผู้เสียหายทุกคนได้ทำสัญญาร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงนามในสัญญาในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4 เพียงแต่ลงชื่อเป็นพยานในสัญญาเท่านั้นจำเลยที่ 6 มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 และมิได้นิติสัมพันธ์กับผู้เสียหาย หนี้ต่าง ๆ จึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 4 และที่ 6 จำเลยที่ 4 ได้ลงทุนกับจำเลยที่ 1เป็นเงิน 6,000,000 บาทเศษ และได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1กับพวกขอเรียกทรัพย์คืนตามคดีหมายเลขดำที่ 12311/2528หมายเลขแดงที่ 10745/2529 ของศาลชั้นต้น และได้ฟ้องจำเลยที่ 1ขอให้ล้มละลายตามคดีหมายเลขดำที่ ล.219/2528 ของศาลชั้นต้นจำเลยที่ 4 และที่ 6 มิได้เป็นลูกหนี้ของผู้เสียหาย จึงมิใช่ผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว และมิได้กระทำความผิดตามมาตรา 4, 5 แห่งพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 5 ให้การว่า จำเลยที่ 5 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 5 มิได้ลงชื่อเป็นผู้กู้ยืมเงินในหนังสือสัญญาหรือเอกสารใด ๆ ที่โจทก์อ้างมา จำเลยที่ 5 จึงมิใช่ผู้กู้ยืมเงิน

จำเลยที่ 1 และที่ 5 ขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งหกเด็ดขาดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนพ.ศ. 2527 มาตรา 10 จำเลยที่ 4 และที่ 6 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำเลยที่ 4 และที่ 6 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังยุติได้ตามที่โจทก์และจำเลยที่ 4 และที่ 6 นำสืบรับกันว่า จำเลยที่ 1เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นกรรมการจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 สองในสามคนลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1ได้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ได้ประกาศชักชวนบุคคลทั่วไปให้ร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 1 จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนคิดเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8 ต่อเดือนหรือร้อยละ 96 ต่อปีซึ่งมากกว่าที่สถาบันการเงินจะพึงให้ได้ตามประกาศของกระทรวงการคลังเอกสารหมาย จ.6 เมื่อลงทุนครบ 6 เดือนแล้วผู้ร่วมลงทุนจะถอนทุนคืนก็ได้ ได้มีผู้ร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 1 ประมาณ 551 ราย รวมกันเป็นเงินประมาณ 79,000,000 ล้านบาทเศษ ทั้งก่อนพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ใช้บังคับและหลังใช้บังคับแล้ว ผู้ร่วมลงทุนได้ผลประโยชน์ตอบแทนตลอดมาจนกระทั่งเดือนพฤษภาคม 2529 จำเลยที่ 1 กับพวกไม่สามารถจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนและจ่ายทุนคืนให้แก่ผู้ร่วมลงทุนได้ผู้ร่วมลงทุนได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลมักกระสัน ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 กับพวก ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 และที่ 6 มีว่า จำเลยทั้งสองดังกล่าวเป็นผู้กู้ยืมเงินตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 หรือไม่ ตามทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่า จำเลยที่ 4 และที่ 6 ได้ชักชวนผู้ร่วมลงทุนพยานโจทก์ประมาณ 35 คน ซึ่งเป็นผู้เสียหายให้มาร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 1 โดยผู้ร่วมลงทุนดังกล่าวได้มอบเงินให้จำเลยที่ 4หรือที่ 6 ซึ่งเป็นสามีภริยากัน หากเงินที่นำมาลงทุนต่ำกว่า50,000 บาท จำเลยที่ 4 หรือที่ 6 จะออกใบเสร็จรับเงินชั่วคราวให้ หากจำนวนเงินที่ร่วมลงทุนเกิน 50,000 บาทจำเลยที่ 4 จะออกใบเสร็จรับเงินชั่วคราวให้ก่อน หลังจากนั้นจะได้รับหนังสือร่วมลงทุนของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3ร่วมกันลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 โดยมีจำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นพยาน เมื่อผู้ร่วมลงทุนได้รับหนังสือสัญญาร่วมลงทุนแล้วจะคืนใบเสร็จรับเงินชั่วคราวให้แก่จำเลยที่ 4 หนังสือสัญญาร่วมลงทุนปรากฏตามเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.4นอกจากนี้สำหรับผู้ร่วมลงทุนบางราย จำเลยที่ 4 จะมอบเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาราชวงศ์ ของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันลงลายมือชื่อสั่งจ่ายและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 4 และที่ 6 นำสืบรับเจ้ามาว่า ได้รับเงินจากผู้ร่วมลงทุนและได้ออกใบเสร็จรับเงินชั่วคราวหรือหนังสือสัญญาร่วมลงทุนของจำเลยที่ 1 ให้ผู้ร่วมลงทุนจริง และได้ส่งมอบเงินทั้งหมดที่ได้รับมาให้จำเลยที่ 1แล้วแต่อ้างว่าจำเลยที่ 4 เป็นตัวแทนของผู้ร่วมลงทุนไม่ใช่เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 6 เป็นผู้รับเงินแทนจำเลยที่ 4 ในกรณีที่จำเลยที่ 4 ไม่อยู่ เมื่อรับเงินแล้วก็ได้มอบให้จำเลยที่ 4 จำเลยที่ 4 ยอมรับว่าในวันที่บริษัทจำเลยที่ 1เปิดทำการ ทางจำเลยที่ 1 ได้ประกาศว่าหากมีผู้สนใจจะร่วมลงทุนให้ติดต่อที่บริษัทจำเลยที่ 1 โดยตรงก็ได้หรือจะฝากเงินร่วมลงทุนผ่านจำเลยที่ 4 ก็ได้ นอกจากนี้จากการสอบสวนของพนักงานสอบสวนทราบว่าผู้ร่วมลงทุนส่วนมากจะมอบเงินผ่านจำเลยที่ 4 และที่ 6เท่านั้น พยานโจทก์หลายปาก เช่น เรืออากาศโทพุดตาน กรุดเที่ยง นางยมหิน จันทรโชติ จ่าสิบเอกสมบัติ กาญจนพันธ์นางสาวมณเทียร แหเกิด นาวาอากาศตรีประยูร พงษ์แสงศรีนาวาอากาศตรีสิทธิชัย ฮวยเจริญ เป็นต้นเบิกความยืนยันว่าจำเลยที่ 4 และที่ 6 ได้ชัดชวนให้ร่วมลงทุนและพยานดังกล่าวได้มอบเงินให้จำเลยทั้งสองนี้ เหตุที่ร่วมลงทุนพยานบางปาก เช่น พันจ่าอากาศเอกพุดตานกับเรืออากาศโทชวน เบิกความว่าเพราะเชื่อถือจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา ที่จำเลยที่ 4 และที่ 6 อ้างว่าไม่ได้ชักชวนประชาชนให้มาร่วมลงทุนจึงฟังไม่ขึ้นนางยมหินเบิกความว่า ในวันที่ 7 มิถุนายน 2528 เวลา 14นาฬิกา ได้มีการประชุมผู้ร่วมลงทุนมีมิลเลียนดิสโกเธคถนนรามคำแหง มีผู้ร่วมลงทุนเป็นร้อยคนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4ทนายความของจำเลยที่ 1 ก็เข้าประชุม จำเลยที่ 6 ได้ขึ้นไปบอกกล่าวว่า ต่อไปนี้จะขอจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราร้อยละ 4 ต่อเดือน โดยจะจ่ายทุกวันที่ 15 ของเดือนเห็นว่าการที่จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 6 รับเงินจากผู้ร่วมลงทุนแล้วนำไปมอบให้จำเลยที่ 1 รับผลประโยชน์จากจำเลยที่ 1 มามอบให้กับผู้ร่วมลงทุนโดยจำเลยที่ 4 ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 1 เปอร์เซ็นต์ ชักชวนให้บุคคลทั่วไปร่วมลงทุน เป็นการที่จำเลยที่ 4 และที่ 6 กู้ยืมเงินตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527แล้ว ที่จำเลยที่ 4 และที่ 6 ว่าเป็นตัวแทนของผู้ร่วมลงทุนจึงฟังไม่ขึ้น จำเลยที่ 4 และที่ 6 ฎีกาว่าจำเลยที่ 4 และที่ 6ไม่ได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคล จึงไม่ใช่ผู้กู้ยืมตามพระราชกำหนดดังกล่าว เห็นว่าตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนพ.ศ. 2527 มาตรา 3 บัญญัติว่า “ในพระราชกำหนดนี้”ผู้กู้ยืมเงิน” หมายความว่า บุคคลผู้ทำการกู้ยืมเงินและในกรณีที่ผู้กู้ยืมเงินเป็นนิติบุคคลให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งลงนามในสัญญาหรือตราสารการกู้ยืมเงินในฐานะผู้แทนของนิติบุคคลนั้นด้วย” แม้พระราชกำหนดจะได้บัญญัติไว้ดังกล่าว แต่การที่จำเลยที่ 4 และที่ 6 ได้ร่วมดำเนินกิจการกับจำเลยที่ 1และได้รับผลประโยชน์ตอบแทน ถือได้ว่าจำเลยที่ 4 และ 6ร่วมกับจำเลยที่ 1 เป็นผู้กู้ยืมเงินด้วย ทั้งนี้เพราะบุคคลธรรมดาอาจร่วมกับนิติบุคคลประกอบกิจการก็ได้ แม้จำเลยที่ 4 เป็นผู้เสียหายได้ร่วมกับพวกฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4เป็นคดีอาญาต่อศาลในข้อหาฉ้อโกงประชาชนและความผิดตามพระราชกำหนดว่าด้วยการกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชนพ.ศ. 2527 และเป็นโจทก์ฟ้องคดีล้มละลายก็ตาม ก็ยังถือว่าจำเลยที่ 4 และที่ 6 ร่วมดำเนินกิจการกับจำเลยที่ 1 อยู่นั่นเองจำเลยที่ 6 ฎีกาเป็นประการสุดท้ายว่าจำเลยที่ 6 ไม่ได้เป็นผู้กระทำผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 4 หรือมาตรา 5 โดยจำเลยที่ 6 ฎีกาอ้างเหตุว่าพนักงานอัยการ กรมอัยการได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 4 และที่ 6 ในข้อหาฉ้อโกงประชาชนและผิดต่อพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ต่อศาลอาญา ปรากฏตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 594/2527 คดีหมายเลขแดงที่ 2325/2533 ระหว่างพนักงานอัยการ กรมอัยการโจทก์ เรืออากาศตรีองุ่น ที่ 1นาวาอากาศเอกพงษ์ อมรวิสัยสรเดช ที่ 2 (คือจำเลยที่ 6ในคดีนี้) ซึ่งคดีอาญาดังกล่าวมูลคดีและเป็นเรื่องเดียวกับคดีนี้ศาลอาญาได้พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 (จำเลยที่ 6 คดีนี้)จำเลยที่ 6 จึงไม่ใช่เป็นผู้กู้ยืมเงินและมิได้เป็นผู้กระทำความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนพ.ศ. 2527 มาตรา 4 หรือมาตรา 5 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 6 เห็นว่า แม้ศาลอาญาจะพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 6แต่พนักงานอัยการโจทก์ยังได้อุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ ขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ คำพิพากษาดังกล่าวยังไปถึงที่สุด จึงฟังเป็นยุติไม่ได้ว่าจำเลยที่ 6 ไม่ได้กระทำผิดตามพระราชกำหนดดังกล่าวก็ตาม แต่ตามเจตนารมณ์ของพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527มาตรา 10 นั้น แม้ผู้กระทำผิดอยู่ในฐานะผู้ต้องหาและหากเข้าหลักเกณฑ์ที่จะเป็นบุคคลล้มละลายพนักงานอัยการก็มีอำนาจฟ้องผู้กระทำผิดดังกล่าวให้เป็นบุคคลล้มละลายได้ ทั้ง ๆ ที่ในขณะฟ้องยังไม่ปรากฏชัดแจ้งว่าผู้กระทำผิดได้กระทำผิดหรือไม่ พนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 6 ให้ล้มละลายได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”

สรุป

บริษัทจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นกรรมการจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 สองในสามคนลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 5 ได้ประกาศชักชวนบุคคลทั่วไปให้ร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 1 จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนคิดเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8 ต่อเดือน หรือร้อยละ 96 ต่อปี ซึ่งมากกว่าที่สถาบันการเงินจะพึงให้ได้การที่จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 6 รับเงินจากผู้ร่วมลงทุนแล้วนำไปมอบให้จำเลยที่ 1 รับผลประโยชน์จากจำเลยที่ 1 มามอบให้กับผู้ร่วมลงทุน โดยจำเลยที่ 4ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากจำเลยที่ 1 เป็นเงิน1 เปอร์เซ็นต์ ชักชวนให้บุคคลทั่วไปร่วมลงทุนเป็นการที่จำเลยที่ 4 และที่ 6 กู้ยืมเงินตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 แล้วไม่ใช่เป็นตัวแทนของผู้ร่วมลงทุน ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 3 บัญญัติว่า “ผู้กู้ยืมเงิน”หมายความว่า บุคคลผู้ทำการกู้ยืมเงินและในกรณีที่ผู้กู้ยืมเงินเป็นนิติบุคคลให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งลงนามในสัญญาหรือตราสารการกู้ยืมเงินในฐานะผู้แทนของนิติบุคคลนั้นด้วย” แม้พระราชกำหนดจะได้บัญญัติไว้ดังกล่าว แต่การที่จำเลยที่ 4 และที่ 6 ได้ร่วมดำเนินกิจการกับจำเลยที่ 1และได้รับผลประโยชน์ตอบแทน ถือได้ว่าจำเลยที่ 4 และที่ 6ร่วมกับจำเลยที่ 1 เป็นผู้กู้ยืมเงินด้วย ทั้งนี้เพราะบุคคลธรรมดาอาจร่วมกับนิติบุคคลประกอบกิจการก็ได้แม้จำเลยที่ 4เป็นผู้เสียหายได้ร่วมกับพวกฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 เป็นคดีอาญาต่อศาลในข้อหาฉ้อโกงประชาชน และความผิดตามพระราชกำหนดว่าด้วยการกู้ยืมเงิน อันเป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และเป็นโจทก์ ฟ้องคดีล้มละลายก็ตาม ก็ยังถือว่าจำเลยที่ 4 และที่ 6 ร่วมดำเนินกิจการกับจำเลยที่ 1 อยู่นั่นเอง พนักงานอัยการได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 4 และที่ 6ในข้อหาฉ้อโกงประชาชนและผิดต่อพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ต่อศาลอาญาแม้ศาลอาญาจะพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 6แต่พนักงานอัยการโจทก์ยังได้อุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด จึงฟังเป็นยุติไม่ได้ว่าจำเลยที่ 6 ไม่ได้กระทำผิดตามพระราชกำหนดดังกล่าวก็ตาม แต่ตามเจตนารมย์ของพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 10 นั้นแม้ผู้กระทำผิดอยู่ในฐานะผู้ต้องหาและหากเข้าหลักเกณฑ์ที่จะเป็นบุคคลล้มละลายพนักงานอัยการก็มีอำนาจฟ้องผู้กระทำผิดดังกล่าวให้เป็นบุคคลล้มละลายได้ ทั้ง ๆ ที่ในขณะฟ้องยังไม่ปรากฏชัดแจ้งว่าผู้กระทำผิดได้กระทำผิดหรือไม่ พนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 6ให้ล้มละลายได้