กฎหมายที่ควรรู้เกี่ยวกับชายคาบ้าน

กฎหมายที่ควรรู้เกี่ยวกับชายคาบ้าน

ชายคาบ้านหรือหลังคาบ้านส่วนที่ปล่อยน้ำทิ้งลงจากหลังคาสู่พื้นดินนั้นตามกฎหมายแล้วจะต้องมีการเว้นระยะกับที่ดินข้างเคียงหรือไม่อย่างไรนั้น มีข้อที่ต้องพิจารณาดังนี้

ตามกฎหมายแล้วชายคาบ้านนั้นสามารถสามารถสร้างให้อยู่สุดเขตของที่ดินของบ้านได้โดยไม่ต้องมีการเว้นระยะห่างจากที่ดินข้างเคียงแต่อย่างใดเนื่องจากไม่ได้มีกฎหมายกำหนดให้ต้องเว้นระยะร่นไว้ ชายคาของบ้านจึงสามารถสร้างให้ยื่นออกมาจากตัวบ้านได้ตราบเท่าที่ยังอยู่ในเขตของที่ดินแต่ต้องไม่ล้ำไปยังที่ดินข้างเคียงของผู้อื่น

แต่อย่างไรก็ดีจากที่ได้กล่าวมาข้างต้นว่าสามารถสร้างชายคาให้อยู่สุดเขตที่ดินของเราก็ตาม แต่หากมีใบไม้บนหลังคา หรือในเวาลาที่ฝนตก ใบไม้หรือน้ำฝนได้ไหลไปตกยังที่ดินข้างเคียงหรือบ้านที่อยู่ติดกัน ก็ย่อมทำให้บ้านข้างเคียงได้รับความเดือดร้อน ซึ่งตามกฎหมายที่ดินที่ได้รับความเดือดร้อนนั้นก็ชอบที่จะร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการแก้ไขได้ดังจะเห็นได้จากกฎกระทรวงฉบับที่ 44 (พ.ศ. 2538) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ 2 ได้กำหนดให้ อาคารที่ก่อสร้างหรือดัดแปลงต้องมีการระบายนํ้าฝนออกจากอาคารที่เหมาะสมและเพียงพอที่จะไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรําคาญแก่ผู้อื่นหรือเกิดนํ้าไหลนองไปยังที่ดินอื่นที่มีเขตติดต่อกับเขตที่ดินที่เป็นที่ตั้งของอาคารนั้น ประกอบกับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1340 ได้กำหนดไว้ว่า เจ้าของที่ดินแปลงต่ำกว่าสามารถเรียกร้องให้เจ้าของที่ดินสูงทำทางระบายน้ำและออกค่าใช้จ่ายให้หากได้รับความเสียหาย โดยเจ้าของที่ดินต้องไม่สร้างสิ่งปลูกสร้างใดๆทำให้น้ำฝนตกลงไปยังทรัพย์สินของผู้อื่นที่อยู่ติดกัน และตามมาตรา 1341 กำหนดไว้ว่ามิให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ทำหลังคาหรือการปลูกสร้างอย่างอื่น ซึ่งทำให้น้ำฝนตกลงยังทรัพย์สินซึ่งอยู่ติดต่อกัน จากกฎหมายี่ได้กล่าวมาข้างต้น เจ้าของบ้านหรือที่ดินข้างเคียงที่ได้รับความเดือดร้อนดังกล่าวย่อมสามารถที่จะร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ดำเนินการแก้ไขได้

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า การสร้างชายคาตามกฎหมายแล้วนั้น แม้จะสามารถสร้างชายคาหรือหลังคาบ้านเต็มพื้นเขตพื้นที่บ้านของเราได้ แต่ยังต้องระวังไม่ให้น้ำฝนบนหลังคาบ้านเราตกลงไปทำข้าวของเพื่อนบ้านเสียหายตามกฎกระทรวงฉบับที่ 44 (พ.ศ. 2538) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ 2 , ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1340 และ1341 ซึ่งอาจใช้ทางแก้โดยการทำรางน้ำฝนระบายน้ำบนหลังคานับเป็นหนึ่งในทางออกที่ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำฝนร่วงหล่นจากหลังคาได้

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายความแสงวรรณ

ทนายความแสงวรรณ เรือนเครือ

72/122 ม.7 ซ.8 ต.วัดไทร อ.เมือง จ.นครสวรรค์ 60000

โทร 084-5795609

อ่านบทความเพิ่มเติม  https://www.sangwanlaw.com/