ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปแจ้งความและให้พนักงานสอบสวนสอบปากคำโจทก์ร่วม เรียกเป็นค่าเสียหายได้หรือไม่

ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปแจ้งความและให้พนักงานสอบสวนสอบปากคำโจทก์ร่วม เรียกเป็นค่าเสียหายได้หรือไม่

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277, 285/1

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา เด็กชาย ธ. ผู้เสียหาย โดยนางสาว ด. มารดาผู้แทนโดยชอบธรรม ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนรวมเป็นเงิน 387,290.24 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม

จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม การกระทำเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 8 ปี รวม 4 กระทง เป็นจำคุก 32 ปี คำขออื่นให้ยก กับให้จำเลยชำระเงิน 387,290.24 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2559 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำคุกจำเลยกระทงละ 7 ปี ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กระทงละหนึ่งในสาม คงจำคุกกระทงละ 4 ปี 8 เดือน รวม 4 กระทง เป็นจำคุก 16 ปี 32 เดือน และให้ตัดข้อความว่า “คำขออื่นให้ยก” ออกจากคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกาทั้งในคดีส่วนอาญาและส่วนแพ่ง โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์ร่วมเป็นบุตรของนาย ส. และนางสาว ด. ขณะเกิดเหตุมีอายุ 5 ปีเศษ เมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2557 นางสาว ด. พาโจทก์ร่วมไปสมัครเรียนเปียโนกับจำเลย โดยโจทก์ร่วมเรียนเปียโนกับจำเลยในช่วงบ่ายของวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ ซึ่งนาย ส. และนางสาว ด. จะเป็นผู้ไปส่งและรับโจทก์ร่วมกลับบ้าน ต่อมาวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 นางสาว ด. พาโจทก์ร่วมไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล แพทย์ตรวจพบรอยแดงและบวมบริเวณอวัยวะเพศภายนอกและรอยแดงบริเวณปากรูทวารหนักทางด้านหน้าของโจทก์ร่วม จากนั้นในวันที่ 3 มิถุนายน 2559 นางสาว ด. พาโจทก์ร่วมไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลย

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์ร่วมเป็นเด็กมีอายุเพียง 5 ปีเศษ ยังไม่รู้ประสีประสาเรื่องทางเพศ หากเรื่องราวตามคำเบิกความของโจทก์ร่วมมิได้เกิดขึ้นจริง ก็ยากที่โจทก์ร่วมจะปั้นแต่งขึ้นปรักปรำจำเลยได้ถึงเพียงนั้น ทั้งโจทก์ร่วมเรียนเปียโนกับจำเลยมาตั้งแต่ยังเล็ก โจทก์ร่วมย่อมต้องนับถือจำเลยในฐานะเป็นครูสอนดนตรีคนหนึ่ง การที่โจทก์ร่วมถูกจำเลยกระทำชำเราจึงนับว่าเป็นเรื่องน่าอับอายขายหน้าและน่าอดสูยิ่งนัก ฉะนั้นหากโจทก์ร่วมมิได้ถูกนางสาว ด. มารดาของโจทก์ร่วมคาดคั้นเอาความจริง โจทก์ร่วมย่อมไม่อาจเสแสร้งเอาความเท็จมาแกล้งกล่าวหาจำเลยซึ่งเป็นครูสอนดนตรีที่โจทก์ร่วมเคารพนับถือและเป็นที่เสื่อมเสียแก่ตัวโจทก์ร่วมเองและวงศ์ตระกูล ทั้งได้ความจากนางสาว ด. มารดาของโจทก์ร่วมว่า ตั้งแต่โจทก์ร่วมเรียนเปียโนกับจำเลย โจทก์ร่วมไม่เคยเล่าให้พยานฟังว่าถูกจำเลยกระทำชำเรา จนกระทั่งในวันที่ 7 พฤษภาคม 2559 โจทก์ร่วมเล่าให้พยานฟังว่าถูกจำเลยกระทำชำเราอย่างรุนแรง พยานจึงขอดูอวัยวะเพศโจทก์ร่วมพบว่ามีอวัยวะเพศบวมแดง พยานจึงพาโจทก์ร่วมไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลย นอกจากนี้ยังได้ความจากนางสาว ว. แพทย์ผู้ตรวจร่างกายโจทก์ร่วมว่า ได้ตรวจอวัยวะเพศและทวารหนักของโจทก์ร่วมแล้ว พบว่ามีรอยแดงและบวมที่อวัยวะเพศภายนอก และพบรอยแดงที่ปากรูทวารหนักด้านหน้า อันเป็นการสนับสนุนคำเบิกความของโจทก์ร่วมให้มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น แม้โจทก์ร่วมมิได้เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้บิดามารดาฟัง แต่ไม่เป็นข้อพิรุธ เพราะโจทก์ร่วมเบิกความว่าจำเลยสั่งไว้ไม่ให้บอกใครโดยเฉพาะบิดามารดา โจทก์ร่วมจึงเชื่อฟังจำเลย และแม้โจทก์ร่วมจะเบิกความลักษณะยืนยันการกระทำผิดของจำเลยเพียงครั้งเดียว มิใช่ 4 ครั้งดังฟ้องก็ตาม แต่ในข้อนี้โจทก์ร่วมเบิกความว่าความจริงแล้วโจทก์ร่วมถูกจำเลยกระทำชำเรานับครั้งไม่ถ้วน แต่เท่าที่จำได้มีเพียง 4 ครั้ง เหตุที่จำได้เพราะจำเลยกระทำต่ออวัยวะเพศของโจทก์ร่วมอย่างรุนแรง และจำได้จากบทเพลงที่จำเลยสอนเปียโน โดยตอนที่จำเลยเริ่มสอนบทเพลงในแต่ละเพลง จำเลยจะเขียนวันที่ไว้ที่มุมด้านซ้ายของหนังสือดนตรี ทั้งการกระทำความผิดของจำเลยทั้ง 4 ครั้ง จำเลยกระทำในขณะที่สอนเปียโนในห้องเรียน และการกระทำแต่ละครั้งเป็นการกระทำที่คล้ายๆ กัน ลักษณะการเบิกความของโจทก์ร่วมเป็นการเบิกความที่ต่อเนื่องเกี่ยวพันกันระหว่างการกระทำความผิดในครั้งแรกและครั้งหลังของจำเลย ดังนั้น การที่โจทก์ร่วมเบิกความถึงพฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยโดยละเอียดในครั้งแรก แล้วเบิกความถึงการกระทำความผิดในครั้งหลังต่อเนื่องไปในคราวเดียวกันว่าจำเลยกระทำชำเราโจทก์ร่วมรวม 4 ครั้ง เมื่อฟังคำเบิกความของโจทก์ร่วมโดยรวมแล้ว ย่อมเข้าใจและรับฟังได้โดยปราศจากความสงสัยว่า จำเลยกระทำโดยใช้มือจับอวัยวะเพศโจทก์ร่วมชักขึ้นลงและใช้ปากอมอวัยวะเพศโจทก์ร่วมรวม 4 ครั้ง ข้ออ้างข้อนี้ของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น

ปัญหาตามฎีกาของจำเลยในคดีส่วนแพ่งที่ว่า จำเลยมิได้กระทำความผิดตามฟ้องและค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ร่วมขอมาซ้ำซ้อนและนำสืบไม่ชัดเจน จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วม นั้น เห็นว่า เมื่อคดีในส่วนอาญาข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง คดีในส่วนแพ่งย่อมต้องฟังว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ร่วม สำหรับค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ร่วมขอมาเป็นค่าเสียหายทางร่างกาย 150,000 บาท ค่าเสียหายทางจิตใจ 150,000 บาท ค่ารักษาพยาบาลทางด้านร่างกายและจิตใจทั้งในปัจจุบันและอนาคต 63,290.24 บาท ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปรักษาพยาบาล 4,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปแจ้งความและให้พนักงานสอบสวนสอบปากคำโจทก์ร่วมรวม 20,000 บาท ตามที่โจทก์ร่วมขอมา นั้น ถือได้ว่าเป็นค่าเสียหายโดยตรงอันเกิดจากการทำละเมิดของจำเลยและมิใช่เป็นค่าเสียหายที่ซ้ำซ้อนกันหรือนำสืบไม่ชัดเจนดังที่จำเลยอ้าง ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ร่วมตามที่ขอมานั้น นับว่าเหมาะสมและถูกต้องแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่) โดยให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาในส่วนแพ่งให้เป็นพับ

สรุป

ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปแจ้งความและให้พนักงานสอบสวนสอบปากคำโจทก์ร่วม เป็นค่าเสียหายโดยตรงอันเกิดจากการทำละเมิดของจำเลย โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยผู้กระทำละเมิดได้

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายความแสงวรรณ
ทนายความแสงวรรณ เรือนเครือ
72/122 ม.7 ซ.8 ต.วัดไทร อ.เมือง จ.นครสวรรค์ 60000
โทร 084-5795609