สวัสดีค่ะ ท่านผุ้อ่านทุกท่านวันนี้ทีมงานทนายแสงวรรณ โดยทนายแสงวรรณ เรือนเครือ หัวหน้าสำนักงานจะมาแนะนำเกี่ยวกับ เมื่อบุตรผู้เยาว์หรือลูกจ้างนำรถที่รับประกันไว้ไปชนโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ผู้รับประกันจะสามารถปฏิเสธความรับผิดได้หรือไม่
บ่อยครั้งที่อุบัติเหตุเกิดจากผู้ขับขี่ที่ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถ และมิใช่ผู้เอาประกันภัย(ผู้จ่ายเบี้ยประกัน) เช่น ลูกจ้างขับรถของนายจ้างไปส่งของให้นายจ้าง หรือบุตรผู้เยาว์ที่บิดาอนุญาตหรือซื้อรถให้ใช้ขับขี่ไปมหาวิทยาลัย เป็นต้น ในกรณีเช่นนี้ ปัญหาที่พบคือ หากบุตรผู้เยาว์หรือลูกจ้างนั้น นำรถไปเฉี่ยวชนด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ผู้รับประกันจะสามารถปฏิเสธไม่ยอมจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่เจ้าของรถได้หรือไม่
ด้วยอำนาจของกฎหมายและอำนาจของสัญญา ผู้รับประกันภัยย่อมมีหน้าที่จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามที่ระบุไว้ในสัญญา ในเมื่อมีวินาศภัยเกิดขึ้นตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญา แต่ก็มีบางกรณีที่ผู้รับประกันภัยสามารถปฏิเสธความรับผิดไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ได้ การไม่ต้องรับผิดของผู้รับประกันภัย สามารถแยกศึกษาออกเป็น 2 ประเภท คือ การไม่ต้องรับผิดโดยผลของกฎหมาย และการไม่ต้องรับผิดโดยผลของสัญญา
การไม่ต้องรับผิดในผลของกฎหมายแบ่งได้เป็น 2 กรณี คือ
- ไม่ต้องรับผิดเพราะความทุจริต หรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 879 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า “ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในเมื่อความวินาศภัยหรือเหตุอื่นซึ่งได้ระบุไว้ในสัญญานั้นได้เกิดขึ้นเพราะความทุจริต หรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์” ดังนี้ หากความวินาศหรือเหตุอื่นที่ตกลงรับประกันไว้ได้เกิดขึ้นเพราะความทุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์แล้ว ผู้รับประกันภัยย่อมสามารถปฏิเสธไม่ใช่ค่าสินไหมทดแทนได้
- ไม่ต้องรับผิดเพราะความไม่สมประกอบในเนื้อแห่งวัตถุที่เอาประกันภัย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 879 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในความวินาศภัยอันเป็นผลโดยตรงมาแต่ความไม่สมประกอบในเนื้อแห่งวัตถุที่เอาประกันภัย เว้นแต่จะได้ตกลงกันเป็นอย่างอื่น” ดังนี้ จะเห็นว่า ถ้าวินาศภัยที่เกิดแก่วัตถุที่เอาประกันภัยไว้เป็นผลเนื่องมาจากความไม่สมประกอบในเนื้อแห่งวัตถุที่เอาประกันภัย เช่น บ้านที่เอาประกันภัยนั้นสร้างโดยวัสดุที่ไม่สมประกอบ พร้อมที่จะพังเมื่อเจอพายุเข้า เช่นนี้ ผู้รับประกันภัยย่อมสามารถปฏิเสธความรับผิดได้ เว้นแต่ผู้รับประกันภัยและผู้เอาประกันภัยจะตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ซึ่งการตกลงตามมาตรา 879 วรรคสองนี้สามารถกระทำได้ แตกต่างกับมาตรา 879 วรรคหนึ่ง ที่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรีบยร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน คู่สัญญาจึงกำหนดให้แตกต่างจากที่บัญญัติไว้ไม่ได้
ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากข้อกฎหมายข้างต้นแล้วจะพบว่า หากวินาศภัยนั้นเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแล้ว ผู้รับประกันย่อมปฏิเสธที่จะใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ ตามมาตรา 879 วรรคหนึ่ง แต่อย่างไรก็ดี มาตรา 879 นั้นเป็นบทบัญญัติยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัย จึงต้องตีความโดยเคร่งครัด ตามมาตราดังกล่าวผู้รับประกันภัยจะพ้นความรับผิดเมื่อความเสียหายเกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือของผู้รับประโยชน์เท่านั้น ดังนั้น เมื่อบุตรผู้เยาว์หรือลูกจ้างของผู้เอาประกันภัยเป็นผู้ขับรถไปเกิดเหตุขึ้น วินาศภัยที่เกิดขึ้นจึงมิได้เกิดเพราะการกระทำของผู้เอาประกันภัย ดังนี้ ผู้รับประกันภัยจึงไม่พ้นความรับผิด (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1720/2534 และ 3151/2526)
สรุป เมื่อผู้ที่กระทำประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเป็นบุตรผู้เยาว์หรือลูกจ้างของผู้เอาประกันภัยแล้ว ผู้รับประกันภัยย่อมไม่อาจยกข้อกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 879 วรรคหนึ่ง มาปฏิเสธความรับผิดได้
มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายความแสงวรรณ
ทนายความแสงวรรณ เรือนเครือ
72/122 ม.7 ซ.8 ต.วัดไทร อ.เมือง จ.นครสวรรค์ 60000
โทร 084-5795609